สลากกินแบ่งรัฐบาลจำนวน 120 ล้านฉบับที่ออกจากโรงพิมพ์ในทุกงวด ผ่านช่องทางต่างๆ ไปยังผู้จำหน่ายก่อนจะถึงมือผู้ซื้อ มีต้นทุนแอบแฝงอยู่ในทุกขั้นตอน ผ่านกลไกสำคัญที่ทำหน้าที่รวบรวมสลาก คือ ผู้ค้าส่ง หรือ ยี่ปั๊ว จนผู้ค้าจริงแทบไม่มีโอกาสจองซื้อ
วันนี้ (20 มี.ค.2559) คณะกรรมการสลากกินแบ่งรัฐบาลลงพื้นที่ตลาดค้าส่งสลาก จ.เลย ซึ่งได้รับการร้องเรียนจากผู้ค้ารายย่อยจำนวนมากว่าไม่สามารถจองซื้อสลากได้
บานเย็น คำแว่น ผู้ค้าสลากรายย่อยบอกว่าเธอต้องตื่นแต่เช้าไปเข้าคิวจองสลาก ซึ่งบางงวดก็ไม่ได้เลย บางงวดได้มาน้อย ไม่พอขายก็ต้องมาซื้อจากยี่ปั๊วเพิ่มเติม
แม้ปัจจุบันการจองซื้อสลากจะทำได้ง่ายขึ้น แต่ที่ตลาดค้าส่งสลากกินแบ่งรัฐบาล อ.วังสะพุง จ.เลย ซึ่งเป็นตลาดค้าส่งสลากที่ใหญ่เป็นอันดับ 3 ของประเทศก็ยังคราคร่ำด้วยผู้คน เพราะตลาดยังทำหน้าที่เป็นแหล่งรับแลกเปลี่ยน รวมชุด ซื้อมา-ขายไป สะท้อนให้เห็นการปรับตัวเพื่อรองรับการจำหน่ายแบบใหม่
สิทธิพร บอนสิทธิ์ เจ้าของตลาดค้าส่งสลาก จ.เลย ยอมรับว่าการจองซื้อผ่านธนาคารกรุงไทย เปิดทางให้คนกลุ่มหนึ่งที่ไม่ได้ขายสลากจริง แย่งจองซื้อสลากเพื่อมาขายต่อ ขณะที่ผู้ค้าส่งมีความต้องการสลากเพื่อนำรวมเลขเป็นหวยชุด จึงกลายเป็นต้นทุนให้สลากแพงขึ้น และผู้ค้ารายย่อยที่รับไปต้องขายเกินราคา เขาจึงเสนอทางออกให้รัฐบาลยอมรับว่า ตลาดมีความต้องการหวยชุดและแยกการดูแลราคาเพื่อให้สอดคล้องกับพฤติกรรมของผู้บริโภค
ขณะที่ประสาร แก้วกลาง ผู้ค้าสลาก จ.เลย มองว่า รัฐบาลต้องปล่อยให้สลากล้นไปสักระยะ เพื่อสกัดผู้ค้าเทียมออกไปจากระบบ เมื่อส่วนต่างไม่จูงใจก็จะไม่มีใครลงทุนมาต่อคิว
ขณะนี้คณะกรรมการสลากกินแบ่งรัฐบาลอยู่ระหว่างการเร่งหาข้อมูลเพื่อประเมินผล การเพิ่มจำนวนสลากเข้าสู่ระบบยังจำเป็นอยู่หรือไม่ ซึ่งคาดว่าจะสรุปได้ภายในเดือนมีนาคม 2559
สลากจำนวน 120 ล้านฉบับ จึงกลายเป็นขุมทรัพย์ของทุกฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นผู้ค้ารายย่อยที่ได้ประกอบอาชีพ พ่อค้าคนกลางที่กินส่วนต่างจากการรวบรวมสลาก สำนักงานสลากฯ ได้รับเงินค่าบริหารจัดการ ไปจนถึงรัฐบาลที่ได้รับเงินนำส่ง จนไม่มีใครต้องการที่จะหยุดวงจรนี้ลง