ยอดขาย 500,000 ชุดของอัลบั้ม A Head Full of Dreams เพียงพอจะทำให้ Coldplay กลายเป็นวงดนตรีที่ทำยอดขายสูงสุดในประเทศอังกฤษ ประจำปี 2015 พกวดเขาทำยอดขายแซงหน้าวงดังทั้ง Mumford & Sons และ One Direction แต่หากไปเทียบยอดขายกับศิลปินเดี่ยวแล้วเนี่ย ความสำเร็จของ Coldplay ดูจะกลายเป็นเรื่องเล็กน้อยไปเลย เพราะศิลปินเดี่ยวที่ทำยอดขายสูงสุดอย่าง อาเดล จำหน่ายอัลบั้มไปถึง 2,500,000 ชุด ในเวลาเพียง 6 สัปดาห์
ส่วนศิลปินเดี่ยวอย่าง Ed Sheeran, Sam Smith, Justin Bieber, Taylor Swift ต่างทำยอดขายในอังกฤษเกิน 600,000 ชุด โดยการจัดอันดับศิลปินยอดนิยมของอังกฤษ เมื่อปี 2015 ปรากฏว่า Coldplay คือวงดนตรีวงเดียวที่ทำยอดขายอยู่ใน 10 อันดับแรก ส่วน 10 อันดับศิลปินยอดนิยมประจำปี 2015 ของฝั่งสหรัฐอเมริกา กลับไม่มีวงดนตรีทำยอดขายติดอันดับแม้แต่วงเดียว
ผลสำรวจยอดขายของศิลปินจำนวน 1,000 ราย เมื่อปีก่อน ขององค์กรสิ่งบันทึกเสียงอังกฤษ หรือ bpi พบว่ายอดขายผลงานของศิลปินเดี่ยว มีสัดส่วนถึงร้อยละ 60 ซึ่งความนิยมต่อศิลปินเดี่ยว ยังข้ามมาถึงปี 2016 เมื่อยังไม่มีศิลปินกลุ่มรายได้ ส่งงานเพลงทำยอดขายเทียบเท่าบรรดา solo artists ได้
หากลองเทียบดูแล้ว ความนิยมที่เฟื่องฟูของศิลปินเดี่ยว สวนทางกับการตกต่ำของศิลปินร็อกในปัจจุบัน ย้อนไปเมื่อ 10 ปีที่แล้ว สมัยที่ Arctic Monkeys แจ้งเกิด และ Coldplay กำลังดังสุดขีด อัลบั้มเพลงร็อกทำส่วนแบ่งทางการตลาดในอังกฤษถึงร้อยละ 40 ส่วนเพลงป็อปมีสัดส่วนเพียงร้อยละ 20 เท่านั้น แต่ปีที่ผ่านมา ยอดขายเพลงป็อปเพิ่มขึ้นมาเป็นร้อยละ 34 แซงหน้ายอดขายเพลงร็อกที่สัดส่วนตกลงมาอยู่ที่ร้อยละ 33
เจฟ เทเลอร์ ผู้อำนวยการของ bpi วิเคราะห์ว่า สาเหตุที่ศิลปินเดี่ยวโด่งดังแซงหน้าศิลปินกลุ่มอย่างชัดเจนในวันนี้ มีปัจจัยอยู่หลายประการ ทั้งความนิยมของรายการประกวดร้องเพลงต่างๆ ที่มักเป็นแหล่งผลิตนักร้องเดี่ยวเข้าสู่วงการมากกว่านักร้องกลุ่ม หรือช่องทางแจ้งเกิดผ่านยูทูปที่เปิดโอกาสให้นักร้องนักดนตรีรุ่นใหม่ แสดงความสามารถทางดนตรีได้โดยลำพัง โดยไม่ต้องพึ่งเพื่อนฝูงเหมือนในอดีต
อีกปัจจัยที่มีอิทธิพลทำให้วงการเพลงอังกฤษต้องขาดแคลนวงร็อกหน้าใหม่ มาจากวิกฤตการปิดตัวของผับในอังกฤษ ซึ่งสถานที่เหล่านี่้คือเวทีขัดเกลาฝีมือวงหน้าใหม่ ก่อนที่พวกเขาจะได้โอกาสเซ็นสัญญากับค่ายเพลง โดย 10 ปีที่ผ่านมา ผับในกรุงลอนดอน ต้องปิดตัวไปแล้วถึงร้อยละ 40 ปัจจัยมาจากค่าเช่าที่แพงขึ้น
สวนทางกับพฤติกรรมแฟนเพลงรุ่นใหม่ไม่นิยมเที่ยวผับเหมือนในอดีต ทั้งๆ ที่ผับเหล่านี้ คือเวทีที่วงหน้าใหม่พัฒนาทักษะและสร้างฐานแฟนเพลง ซึ่งตำนานเพลงมากมาย ต่างมีจุดกำเนิดมาจากการแจ้งเกิดผ่านโชว์ในผับทั้งสิ้น การปิดตัวขอสถานบันเทิงเล็กๆ เหล่านี้ จึงสร้างความกังวลว่าจะส่งผลกระทบต่อการเติบโตของวงการดนตรีของอังกฤษในอนาคต
มีความพยายามจากหลายฝ่ายเพื่อต่ออายุผับในอังกฤษทั้งการก่อตั้ง Music Venue Trust องค์กรการกุศล เพื่อช่วยเหลือสถานที่จัดแสดงคอนเสิร์ตขนาดเล็กให้สามารถดำเนินกิจการต่อไปได้ เช่นเดียวกับ Independent Venues Week เทศกาลดนตรีประจำปี ที่ศิลปินน้อยใหญ่ไปร่วมเปิดการแสดงตามผับของแต่ละเมือง เพื่อเป็นการสนับสนุนแหล่งบันเทิงระดับรากหญ้า ที่มีบทบาทต่อวงการเพลงอังกฤษอย่างมหาศาล