วันนี้ (4 เม.ย. 2559) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) จัดประชุมระหว่างประเทศเพื่อหาแนวทางแก้ไขปัญหาการลักลอบตัดและค้าไม้พะยูงผิดกฎหมาย ครั้งที่ 2 โดยมีตัวแทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจาก 5 ประเทศเข้าร่วม ได้แก่ ไทย สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว เวียดนาม กัมพูชา และสาธารณรัฐประชาชนจีน
พล.อ.สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ รมว.ทส. กล่าวว่า แม้สถานการณ์ลักลอบตัดและค้าไม้พะยูงในประเทศไทยจะลดลง แต่ในความเป็นจริงยังพบอย่างต่อเนื่อง และ นำไปสู่การสูญเสียทรัพยากรป่าไม้และเจ้าหน้าที่ที่เผชิญหน้ากับกลุ่มลักลอบ รวมถึงการดันกลุ่มป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่ ขึ้นทะเบียนเป็นแหล่งมรดกโลกก็มีความเสี่ยงมากขึ้น ปัญหาดังกล่าวเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องกำหนดกรอบความร่วมมือระหว่างประเทศ ในการหยุดยั้งลักลอบตัดและค้าไม้พะยูงผิดกฎหมาย
พล.อ.สุรศักดิ์ กล่าวต่ออีกว่า นอกจากการขอความร่วมมือประเทศปลายทาง เช่น ประเทศจีนที่ยังใช้ผลิตภัณฑ์ไม้พะยูง เพื่อติดตามควบคุมผู้ลักลอบค้าไม้พะยูงผิดกฎหมายข้ามแดนแล้ว สิ่งสำคัญคือการป้องกันและปราบปรามการลักลอบตัดไม้จากประเทศต้นทาง ซึ่งในประเทศไทยได้บูรณาการความร่วมมือของตำรวจ ทหาร และเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่า ในการสนธิกำลังป้องกันและปราบปรามเข้มงวดมากขึ้น ทั้งนี้ได้อนุมัติสั่งซื้ออาวุธปืนลูกซอง 3,300 กระบอก ให้เจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่ากรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช รวมถึงกรมป่าไม้อีก 500 กระบอก เพื่อใช้ป้องกันขณะปฏิบัติหน้าที่
ด้าน นายสมเกียรติ สุนทรพิทักษ์กุล ผู้อำนวยการกองคุ้มครองพันธุ์สัตว์ป่าและพืชป่าตามอนุสัญญา กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กล่าวว่า แม้ไม้พะยูงจะจัดเป็นพืชป่าบัญชีที่ 2 คือ ชนิดที่มีแนวโน้มใกล้สูญพันธุ์ โดยอนุญาติให้ค้าขายได้แต่ต้องมีการควบคุม ตามอนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศซึ่งชนิดพันธุ์สัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้สูญพันธุ์ หรืออนุสัญญาไซเตส แต่เป็นการควบคุมเฉพาะไม้ซุงและไม้แผ่นเท่านั้น ไม่ครอบคลุมการแปรรูปไม้พะยูงเป็นผลิตภัณฑ์อื่น ดังนั้น จึงควรแก้ไขหมายเหตุแนบท้ายพืชป่าบัญชีที่ 2 เพื่อควบคุมผลิตภัณฑ์แปรรูปจากไม้พะยูงด้วย
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ทส.จะนำข้อเสนอการแก้ไขหมายเหตุแนบท้ายพืชป่าบัญชีที่ 2 เพื่อควบคุมผลิตภัณฑ์แปรรูปจากไม้พะยูง ต่อที่ประชุมสมัชชาภาคีอนุสัญญาไซเตส ในการประชุมสมัยที่ 17 หรือ COP 17 ที่จะจัดขึ้นในเดือน ก.ย. 2559