ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

นักข่าวหญิงคะฉิ่นคว้ารางวัลพูลิตเซอร์ จากการตีแผ่การค้ามนุษย์ในอุตสาหกรรมประมง

ต่างประเทศ
20 เม.ย. 59
08:16
284
Logo Thai PBS
นักข่าวหญิงคะฉิ่นคว้ารางวัลพูลิตเซอร์ จากการตีแผ่การค้ามนุษย์ในอุตสาหกรรมประมง
นักข่าวหญิงชาวคะฉิ่น ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวเอพี (Associated Press) ประจำเมียนมา ร่วมคว้ารางวัลพูลิตเซอร์ จากการทำข่าวสืบสวนสอบสวนเรื่องการค้ามนุษย์ในอุตสาหกรรมประมงในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

สำนักข่าวอิระวดี รายงานเมื่อวันที่ 19 เม.ย.2559 ว่า "เอสเธอร์ ทูซาน" (Esther Htusan) วัย 29 ปี หนึ่งในทีมข่าวสืบสวนสอบสวนของสำนักข่าวเอพีเป็นนักข่าวหญิงคนแรกของเมียนมาที่ได้รับรางวัลพูลิตเซอร์ ซึ่งเป็นรางวัลสูงสุดของวงการสื่อสิ่งพิมพ์สหรัฐอเมริกา จากการรายงานข่าวการใช้แรงงานทาสในอุตสาหกรรมประมงในภูมิภาคตะวันออกเฉียงใต้รวมทั้งประเทศไทย

ทีมข่าวชุดนี้มีทั้งหมด 4 คน ได้แก่ เอสเธอร์, มาร์กี เมสัน, โรบิน แมคโดเวลล์ และมาร์ธา เมนโดซา ผู้สื่อข่าวทั้ง 4 คนได้ตีแผ่เรื่องราวของการค้าแรงงานโดยแบ่งการนำเสนอเป็น 9 ตอน ซึ่งมีทั้งคลิปวิดีโอและข้อเขียน เผยแพร่ระหว่างเดือนมีนาคม-ธันวาคม 2558

รายงานข่าวชุดนี้คว้ารางวัลพูลิตเซอร์ในสาขาบริการสาธารณะประจำปี 2559 ซึ่งประกาศผลเมื่อวันที่ 18 เม.ย.ที่มหาวิทยาลัยโคลัมเบีย สหรัฐฯ เนื้อหาของรายงานข่าวกล่าวถึงการละเมิดสิทธิมนุษยชนของแรงงานในอุตสาหกรรมประมงโดยเฉพาะอุตสาหกรรมประมงของไทย ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวเอพีเดินทางไปที่เกาะเบนจินา ประเทศอินโดนีเซียและพบว่ามีแรงงานประมงถูกกักขังอยู่ที่นั่น อีกทั้งยังพบหลุมศพของแรงงานที่เสียชีวิตด้วย

เอพีระบุว่าการใช้แรงงานทาสในอุตสาหกรรมประมงเกิดขึ้นมานานนับสิบปี แรงงานซึ่งมีทั้งชาวเมียนมา กัมพูชา ลาวและไทยถูกบังคับให้ทำงานบนเรือประมงกลางทะเลโดยมีสภาพความเป็นอยู่ที่เลวร้าย พวกเขาถูกบังคับให้ทำงานทั้งวันทั้งคืนและได้นอนเพียงวันละ 1-2 ชั่วโมงเท่านั้น

นอกจากนี้ ทีมข่าวยังพบว่ามีการใช้แรงงานเด็กในโรงงานแปรรูปอาหารทะเลในประเทศไทยอีกด้วย

"พวกเขาถูกบังคับให้จับปลาและทำงานในโรงงานแปรรูปอาหารทะเลเพื่อส่งไปขายในร้านขายอาหารทะเลในสหรัฐฯ ซึ่งจะถูกนำไปเสิร์ฟบนโต๊ะอาหารของผู้บริโภคทั่วโลก" สำนักข่าวเอพีระบุ

เว็บไซต์พูลิตเซอร์ระบุว่า การนำเสนอข่าวนี้ส่งผลให้แรงงานทาสราว 2,000 คนในอุตสาหกรรมประมงได้รับการช่วยเหลือ และทำให้มีการดำเนินคดีกับผู้ที่เกี่ยวข้องในการกระทำความผิด อีกทั้งจุดประกายให้เกิดการปฏิรูปอุตสาหกรรมประมงอีกด้วย

อาย อาย วิน อดีตนักข่าวเอพีจากเมียนมากล่าวว่า เธอรู้สึกภูมิใจที่ผู้สื่อข่าวทำหน้าที่สื่อมวลชนเพื่อช่วยเหลือแรงงานเหล่านั้น

"รายงานข่าวของพวกเขาช่วยชาวประมงที่ถูกกักตัวไว้บนเรือกลางทะเล รายงานข่าวนี้ควรค่าแก่รางวัลนี้" เธอกล่าวและสรุปว่า การรายงานข่าวไม่ใช่แค่การให้ข้อมูล หากแต่ยังนำมาซึ่งอิสรภาพ

ด้าน Myint Kyaw สมาชิกสภาองค์กรสื่อเมียนมากล่าวว่า การมีส่วนร่วมในรายงานข่าวสืบสวนชุดนี้ของเอสเทอร์ ได้สร้างผลกระทบต่อทั้งประเทศ "ผลที่ตามมาคือ ชาวประมงที่ถูกบังคับใช้แรงงานราวกับเป็นทาสเหล่านั้นได้รับการช่วยเหลือ ซึ่งในนั้นมีพลเมืองเมียนมาอยู่ด้วย และความสำเร็จของเอพีครั้งนี้ ถือได้ว่าเป็นประโยชน์ต่อเมียนมาอีกด้วย"

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง