วันนี้ (30 เม.ย.) ผู้สื่อข่าวไทยพีบีเอสออนไลน์รายงานว่า สำนักข่าวชายขอบ http://transbordernews.in.th/ รายงานว่า เมื่อวันที่ 29 เม.ย.2559 มีรายงานข่าวจากชาวบ้านในพื้นที่อุทยานแห่งชาติบูโด-สุไหงปาดี ในเขตฝั่งจ.นราธิวาส ว่า สถานการณ์นกเงือกในผืนป่าแห่งนี้กำลังอยู่ในภาวะวิกฤติเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ ที่นอกจากเป็นผลจากปัญหาการลักลอบจับนกเงือกไปขายแล้ว ปัจจุบันยังมีขบวนการลักลอบตัดไม้ในป่าแถบนี้อย่างหนัก โดยเฉพาะต้นตะเคียนชันตาแมวที่เป็นไม้เนื้อแข็งและมีมูลค่าสูง ซึ่งเป็นต้นไม้ที่นกเงือกใช้ทำรัง และเป็นเป้าหมายของกลุ่มผู้ลักลอบตัดไม้
ทั้งนี้ ไม้ตะเคียนชันตาแมวกำลังเป็นที่ต้องการอย่างมากของตลาดค้าไม้ โดยมีเบาะแสชี้ว่าการลักลอบตัดไม้ในอุทยานแห่งชาติบูโดฯ มีการทำกันเป็นขบวนการโดยมีนายทุนที่เป็นกลุ่มผู้มีอิทธิพลในพื้นที่ว่าจ้างชาวบ้านที่อยู่รอบผืนป่า ให้เข้าไปตัดไม้และชักลากออกมาจากป่า ก่อนนำไปแปรรูปเป็นไม้สร้างบ้านและเฟอนิเจอร์ ก่อนส่งเข้าสู่ตลาดค้าไม้ในพื้นที่และมีการส่งเข้ากรุงเทพฯ ด้วย โดยเฉพาะบ้านไม้หลังใหญ่ของนักการเมืองบางรายในจังหวัดนราธิวาสก็มีข้อมูลว่าใช้ไม้ตะเคียนชันตาแมวที่ถูกตัดจากป่าเขาบูโด
นอกจากนี้มีการตั้งข้อสังเกตว่า เหตุใดขบวนการลักลอบตัดจึงสามารถชักลากไม้ออกจากป่า และขนส่งไปยังจังหวัดนราธิวาสและส่งไปต่างจังหวัดโดยไม่ถูกจับกุม ทั้งที่พื้นที่จังหวัดชายแดนใต้มีด่านความมั่นคงอยู่บนถนนทุกสายและมีการตรวจสอบรถที่ผ่านอย่างเข้มงวด
ขอบคุณภาพจาก Thailand Hornbill Project
นายปรีดา เทียนส่งรัศมี เจ้าหน้าที่โครงการศึกษานิเวศวิทยาของนกเงือก คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า ขณะนี้ต้นไม้ตะเคียนชันตาแมวขนาดใหญ่ที่เหมาะสมต่อการทำรังของนกเงือกกำลังหายากขึ้น เนื่องจากมีขบวนการลักลอบตัดไม้ในพื้นที่ โดยปัญหาหนักขึ้นในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา ซึ่งทีมนักวิจัยที่เข้าไปติดตามเก็บข้อมูลนกเงือกในป่าเป็นประจำทุกวัน มักจะพบร่องรอยการตัดไม้และชักลากไม้ออกจากป่าบ่อยครั้ง ซึ่งการตัดต้นไม้ใหญ่เท่ากับเป็นการทำลายแหล่งอาศัยและแหล่งอาหารของนกเงือก
“นกเงือกเป็นสัตว์ที่อ่อนไหว เป็นนกโบราณ ต้องการต้นไม้ใหญ่ ต้องการป่าที่ปลอดภัยไม่มีการรบกวน แม้ตอนนี้จะไม่ได้ตัดไม้ที่มีรังนกเงือกโดยตรง แต่เมื่อป่ารอบๆ ถูกโค่นไปหมด ก็คือการทำลายรังของมัน ซึ่งตอนนี้นกเงือกก็ต้องทนกับคนที่เข้ามาตัดไม้ ทนกับเสียงเลื่อนยนต์ที่หนักขึ้นทุกวัน” นายปรีดากล่าว
นายปรีดากล่าวอีกว่า ที่ผ่านมาหลังจากหมดสัมปทานป่าไม้ ผืนป่าฟื้นตัวจนอุดมสมบูรณ์เต็มไปด้วยต้นไม้ขนาดใหญ่ เราจึงทำงานอนุรักษ์สนับสนุนให้ชาวบ้าน เปลี่ยนจากการจับนกขายมาเป็นการผู้ช่วยดูแลนกเงือกในป่า ทำให้นกเงือกกลับมาอาศัยและขยายพันธุ์ในป่าแถบนี้ แต่หากยังปล่อยให้สถานการณ์การลักลอบตัดไม้รุนแรงมากขึ้น การอนุรักษ์ตลอด 20 ปีที่ผ่านมาอาจสูญเปล่า จึงอยากเรียกร้องให้เจ้าหน้าที่ป่าไม้เพิ่มกำลังในการลาดตระเวนป้องกันไม่ให้ปัญหาการลักลอบตัดต้นไม้รุนแรงไปมากกว่านี้
ขอบคุณภาพจาก Thailand Hornbill Project
ด้านนายสมชาย ศิริอุมากุล หัวหน้าอุทยานแห่งชาติบูโด-สุไหงปาดี กล่าวว่า ปัญหาการลักลอบตัดไม้จะอยู่ในแถบเทือกเขาตะเว ในเขตของอ.ระแงะ จ.นราธิวาส ซึ่งพื้นที่สีแดงทำให้ที่ผ่านมาเจ้าหน้าที่อุทยานฯ ไม่สามารถออกลาดตะเวนได้อย่างทั่วถึง แต่ขณะนี้ได้มีการขอกำลังเจ้าหน้าที่จากกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน(กอ.รมน.) และหน่วยทหารพรานในพื้นที่สนธิกำลังออกลาดตระเวนในป่า เพื่อป้องกันและปราบปรามขบวนการลักลอบตัดไม้ โดยมีการพบร่องรอยการตัดต้นไม้ขนาดใหญ่ที่มีเส้นรอบวงประมาณ 160-200 เซ็นติเมตร มีการแปรรูป และชักลากไม้ออกจากป่า แต่เจ้าหน้าที่ยังไม่สามารถจับกุมผู้กระทำผิดได้ เนื่องจากมีคนของขบวนการตัดไม้คอยแจ้งความเคลื่อนไหวของเจ้าหน้าที่ให้แก่ทีมตัดไม้ จึงทำให้ผู้กระทำผิดสามารถหลบออกจากพื้นที่ก่อนถูกเข้าจับกุม
“กำลังอุทยานมีแค่ 76 คน แต่ต้องดูแลพื้นที่ป่าถึง 213,125 ไร่ และยังเป็นพื้นที่สีแดง พวกตัดไม้ก็จะขนไม้ช่วงกลางคืน เจ้าหน้าที่ก็ไม่กล้าออกลาดตระเวน การทำงานก็ลำบาก เราก็ต้องขอกำลังทหารมาช่วย ซึ่งเราก็พยายามทำงานกันเต็มที่ เพราะอยากจะรักษาป่าเอาไว้ ต้นไม้บางต้นมีอายุกว่าร้อยปี หากถูกตัดโค่นไปหมดป่า อีกหน่อยลูกหลานของเราก็จะไม่มีโอกาสได้เห็น เพราะป่าที่นี่ถือเป็นป่าที่มีความอุดมสมบูรณ์ที่สุดแหล่งหนึ่งของประเทศ” หัวหน้าอุทยานแห่งชาติบูโดฯ กล่าว
สำหรับ ข้อมูลจากโครงการศึกษาชีววิทยาและนิเวศวิทยาของนกเงือก คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ระบุความสำคัญและความน่าสนใจของนกเงือกว่า นกเงือก (Hornbill) เป็นนกที่มีรูปร่างหน้าตาโบราณ ถือกำเนิดมาไม่น้อยกว่า 45 ล้านปี จัดอยู่ในวงศ์ Bucerotidae มีอยู่ด้วยกัน 52 ชนิดในโลก ซึ่งไม่นับรวม Ground Hornbill 2 ชนิดของแอฟริกา พบได้ในป่า และทุ่งหญ้าเขตร้อนของทวีปแอฟริกาและเอเชียเท่านั้น ในประเทศไทยมีนกเงือก 13 ชนิด ได้แก่ นกกก (Great Hornbill) นกเงือก กรามช้าง (Wreathed Hornbilll) นก แก๊ก (Oriental Pied Hornbill) นกเงือก สีน้ำตาลคอขาว (White-throated Brown Hornbill) นกเงือกหัวแรด (Rhinoceros Hornbill) นกชนหิน (Helmeted Hornbill) นกเงือกหัวหงอก (White-crowned Hornbill) นกเงือกปากดำ (Black Hornbill) นกเงือกดำ (Black Hornbill) นกเงือกสีน้ำตาล (Brown Hornbill) นกเงือกปากย่น (Wrinkled Hornbill) นกเงือกกรามช้างปากเรียบ (Plain-pouched Hornbill) และนกเงือกคอแดง (Rufous-necked Hornbill)
นกเงือกเป็นนกที่มีขนาดใหญ่ จึงถูกจัดให้เป็น Flagship species Keystone species และ Umbrella species ของป่าเขตร้อนของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ นกเงือกมีบทบาทเด่นในระบบนิเวศป่าและหลายชนิดอยู่ในสภาวะเสี่ยงใกล้สูญพันธุ์ นกเงือกเป็นตัวช่วยกระจายพันธุ์ไม้ (Seed disperser) ที่มีประสิทธิภาพมาก เนื่องจากพฤติกรรมการเลือกกินผลไม้สุก และนำพาเมล็ดไปทิ้งในพื้นที่ต่างๆ ที่นกเงือกบินไปหากินในแต่ละวัน จากการวิจัยพบว่านกเงือกกินผลไม้ได้มากกว่า 300 ชนิด 100 สกุล 40 วงศ์ โดยเฉพาะผลไม้ที่มีขนาดผลใหญ่กว่า 1.5 ซม ซึ่งนกขนาดเล็กไม่สามารถช่วยกระจายเมล็ดได้ จึงต้องอาศัยนกเงือกเป็นกำลังสำคัญ นกเงือกจึงช่วยรักษาความหลากหลายของพืช โดยเป็นผู้ล่าที่สำคัญของระบบนิเวศป่า ช่วยควบคุมประชากรสัตว์ขนาดเล็ก เช่น แมลงและหนู เป็นต้น จากความสัมพันธ์ของนกเงือกกับระบบนิเวศป่าสมบูรณ์ในแง่ต่างๆ ทำให้นกเงือกมีความอ่อนไหวต่อพื้นที่ป่าที่เปลี่ยนแปลงไป จึงจัดนกเงือกเป็น Indicator species ของป่าแต่ละแบบได้อีกด้วย หากนกเงือกมีจำนวนลดลงหรือสูญพันธุ์ไปจากพื้นที่ สิ่งมีชีวิตอื่นๆ อีกหลายชนิดอาจสูญพันธุ์ตามไปด้วย โดยเฉพาะพันธุ์ไม้ที่เป็นอาหารของนกเงือก
ติดตามข่าวเกี่ยวข้องเพิ่มเติมได้ที่
- อธิบดีกรมอุทยานฯ เชื่อ กลุ่มก่อความไม่สงบ จชต. เชื่อมโยงขบวนการตัดไม้ป่าบูโด
- นักวิจัยเผย ตัดไม้ "ป่าบูโด" รุนแรงสุดในรอบ 20 ปี กระทบถิ่นอาศัยนกเงือก