ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

นศ.พระปกเกล้าแนะสร้างพื้นที่ปลอดภัยพูดคุย-ลดขัดแย้ง เชื่อสันติสุขเกิดได้ภายใต้ความเห็นต่าง

การเมือง
30 เม.ย. 59
09:51
370
Logo Thai PBS
นศ.พระปกเกล้าแนะสร้างพื้นที่ปลอดภัยพูดคุย-ลดขัดแย้ง เชื่อสันติสุขเกิดได้ภายใต้ความเห็นต่าง
นศ.หลักสูตรการสร้างเสริมสังคมสันติสุข (4ส6) สถาบันพระปกเกล้า จัดประชุมวิชานำเสนอผลงาน ด้วยแนวคิด “สันติสุขเกิดได้ภายใต้ความแตกต่าง” แบ่งเป็นงานศึกษาประเด็นความขัดแย้งทางการเมืองและสถานการณ์ในภาคใต้ ปิดท้ายด้วยการเสนอผ่านละครเวที เรื่อง The Last Station

วันนี้ (30 เม.ย.) ผู้สื่อข่าวไทยพีบีเอสออนไลน์รายงานว่า นักศึกษาหลักสูตรประกาศนียบัตรชั้นสูงการเสริมสร้างสังคมสันติสุข รุ่นที่ 6 (4 ส6) จัดงานกิจกรรมนำเสนอผลงานทางวิชาการในประเด็น “สันติสุขเกิดได้ภายใต้ความแตกต่าง” และนำเสนอผลงานรูปแบบของละครเวทีเรื่อง “สถานีปลายทาง : The Last Station” ซึ่งเป็นการแสดงร่วมกันของนักศึกษาในหลักสูตร เพื่อสะท้อนความขัดแย้งในสังคม ความเห็นต่าง มุ่งแสวงหาทางออกจากความขัดแย้งร่วมกัน

 

โดยมี นายวิษณุ เครืองาน รองนายกรัฐมนตรี หม่อมหลวง ปนัดดา ดิสกุล นายแพทย์ประเวศ วะสี ประธานกรรมการที่ปรึกษาบริหารหลักสูตรสำนักสันติวิธีและธรรมาภิบาล สถาบันพระปกเกล้า เข้าร่วมชมการแสดงรวมถึงร่วมแสดงความคิดเห็น

นายแพทย์ ประเวศ วะสี ประธานกรรมการที่ปรึกษาหลักสูตรสำนักสันติวิธีและธรรมภิบาล สถาบันพระปกเกล้า กล่าวว่า สังคมสันติสุขเป็นสิ่งที่สูงสุดสำหรับมนุษย์ชาติ และเป็นสิ่งที่ปรารถนาของคนทุกระดับ ทั้งระดับครอบครัว ชุมชนและท้องถิ่น และหัวใจที่จะสำคัญที่จะทำให้สังคมอยู่ร่วมกันอย่างสันติ คือ “ความเป็นธรรม” คือ ความถูกต้องในทุกมิติ ทั้งรูปธรรมและนามธรรม การสร้างสังคมให้สันติสุขได้ไม่ใช้เพราะคนใดคนหนึ่ง แต่ทุกคนในสังคมต้องร่วมมือกัน

นายแพทย์ ประเวศกล่าว ยังกล่าวอีกว่า “สังคมดีไม่มีขาย อยากได้ต้องร่วมสร้าง” จึงจำเป็นที่จะต้องสร้างหลักสูตร 4 ส คือ “เสริมสร้างสันติสุข” เพื่อสร้างผู้นำเพื่อนำการเปลี่ยนแปลงไปสู้สังคมสันติสุข เพราะวิธีการเดิมๆ ใช้ไม่ได้ผลกับการทำสิ่งที่ซับซ้อนและยาก จะใช้อำนาจรัฐมันก็ออกไม่ได้ ใช้อำนาจเงินมันก็ออกไม่ได้ จะใช้ความรู้ก็ออกไม่ได้ จึงจำเป็นที่จะต้องมีสิ่งที่ฝ่าความยากความซับซ้อนออกไป นั้นคือสิ่งที่หลักสูตรนี้กำลังทำอยู่ โดยเป็นการเรียนรู้ร่วมกัน ปฏิบัติร่วมกันในสถานการณ์จริง เพราะในการปฏิบัตินั้นต้องเผชิญกับความจริง ที่ซับซ้อนที่เฉพาะและยาก แต่ถึงจะซ้ำซ้อนยังไงก็ต้องเรียนรู้ในความจริงนั้นๆ ฉะนั้นการเรียนรู้ร่วมกันเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด เพราะว่าในสถานการณ์ที่ยากลำบากและซับซ้อน ไม่มีใครคนใดคนหนึ่งที่จะสามารถเรียนรู้หรือแก้ไขได้เพียงคนเดียว ต้องประกอบด้วยหลายคนหลาย สถาบัน องค์กรเกี่ยวข้อง แต่ละคนแต่ละองค์กร ซึ่งอาจนำไปสู้ความสำเร็จหรือไม่สำเร็จก็ได้ โดยหากเรียนรู้ที่จะฝ่าฝันอุปสรรคได้

นพ. ประเวศ ยังกล่าวอีกว่า ปัจจัยที่จะนำไปสู้สังคมสันติสุขร่วมกัน จะต้องประกอบด้วย การเคารพศักดิ์ศรีและคุณค่าความเป็นคนของทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน ต้องออกจากมายาคติที่เราเคารพจากความรู้ในตำรามาสู้การเคารพในตัวบุคคล เพราะคนทุกคนมีเกียรติและมีความรู้ในตัวที่เกิดจากประสบการณ์ต่างๆ ความเอื้ออาธรต่อกัน เปิดเผยและจริงใจต่อกัน เพื่อนำไปสู้ความเชื่อถือไว้วางใจกัน ทั้งนี้สังคมที่เกิดความรุนแรงเกิดจากการไว้เนื้อเชื่อใจกัน การรวมตัวทำให้เกิดพลังความสามัคคีในสังคม เกิดภูมิปัญญาร่วมและนวัตกรรรมนำไปสู้ความสำเร็จและเกิดความสุขอันลึกซึ่ง

“สังคมสันติสุขเป็นสิ่งสูงสุดในความเป็นมนุษย์ซึ่งต่างจากสัตว์ ในความเป็นมนุษย์ต้องเข้าถึงสิ่งสูงสุดได้ ทุกคนต้องร่วมกัน เราต้องร่วมกันสร้างสังคมสันติสุข อนาคตลูกหลานของเราจะอยู่ร่วมกันบนแผ่นดินนี้ด้วยความสุข ”นพ. ประเวศ กล่าว

พล.อ.เอกชัย ศรีวิลาศ ผู้อำนวยการสำนักสันติวิธีและธรรมภิบาลและผู้อำนวยการหลักสูตรเสริมสร้างสันติสุขสถาบันพระปกเกล้า กล่าวว่า การศึกษาหลักสูตร 4 ส เพื่อต้องการให้นักศึกษาเรียนรู้ถึงธรรมชาติความขัดแย้งที่มาของความขัดแย้งและป้องกันไม่ให้เกิดความขัดแย้ง และหากเกิดความขัดแย้งจะแปรเปลี่ยนความขัดแย้งเป็นรูปแบบอื่นได้อย่างไร และจะทำอย่างไรเมื่อความขัดแย้งนั้นสิ้นสุดลง และจะมีวิธีการจัดการให้สภาพความขัดแย้งกลับคืนสู้สภาพปกติ โดยหลักสูตรนี้เป็นหลักสูตรที่นักศึกษาได้ลงพื้นที่ไปดูงานในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้ ได้เรียนรู้ โดยมีสิ่งสำคัญในการสร้างการศึกษาคือ เพื่อต้องการสร้างพื้นที่สาธารณะให้ทุกฝ่ายสามารถร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกัน รับฟังเหตุผลซึ่งกันและกัน สร้างเจตนดติ ทัศนคติที่เคยไม่ดีต่อกัน กลับมามองซึ่งกันและกัน และสามรถอยู่ร่วมกันได้บนความแตกต่าง

สำหรับนักศึกษาหลักสูตรการสร้างเสริมสังคมสันติสุข (4ส6) สถาบันพระปกเกล้า ได้เสนอแนวทางเพื่อคลี่คลายความขัดแย้งและสร้างความปรองดองบนความเห็นต่างทางการเมือง ดังนี้

1.ต้องขจัดเงื่อนไขหรือสภาวะที่ไม่เอื้อหรือเป็นอุปสรรคในการเปิดพื้นที่พูดคุย ยกเลิกกลไกทางกฎหมายที่มีลักษณะคุกคามประชาชน เช่นการนำพลเรือนขึ้นศาลทหาร อีกทั้งต้องระมัดระวังการใช้อำนาจออกกฎหมายที่กระทบต่อสิทธิพื้นฐานของบุคคล เช่นการให้อำนาจทหารเข้าตรวจค้น จับกุมและควบคุมบุคคลโดยไม่ต้องขอหมายศาล เพราะเสี่ยงต่อการใช้ดุลพินิจที่ไม่รัดกุมและขาดการตรวจสอบ

2.เปิดพื้นที่ปลอดภัยให้มีการพูดคุยและรับฟังกันอย่างจริงใจ และสื่อสารด้วยท่าทีที่เป็นมิตรแสดงความจริงใจที่ต้องการแก้ปัญหาและไม่ละเลยการมีส่วนร่วมของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องเช่นการร่างรัฐธรรมนูญและกระบวนการลงประชามติ เพราะเป็นเรื่องสำคัญต่อการกำหนดอนาคตของประเทศ

3.เปิดโอกาสให้มีกลไกตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 44 โดยเฉพาะประเด็นที่ส่งผลกระทบต่อสิทธิสาธารณะ เช่นการยกเลิกการบังคับใช้กฎหมาย ผังเมืองและการลดขั้นตอนประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมในโครงการของรัฐ

สำหรับข้อเสนอต่อการแก้ไขปัญหาสถานการณ์ในภาคใต้ นักศึกษา 4ส6 เห็นว่าการสร้างพื้นที่ปลอดภัยโดยปฏิเสธความรุนแรงทุกรูปแบบเป็นเรื่องสำคัญที่สุด เน้นใช้สันติวิธีแก้ไขปัญหาความขัดแย้ง ขณะเดียวกันต้องสร้างบรรยากาศให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เข้าใจและยอมรับความแตกต่างหลากหลายของอัตลักษณ์ระหว่างไทยพุทธกับมุสลิมในท้องถิ่น ส่งเสริมการเรียนรู้ภาษามลายุูเป็นภาษาที่สาม สำหรับพื้นที่ชายแดนใต้ ชำระประวัติศาสตร์ท้องถิ่นเพื่อสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องบนพื้นฐานของการมีส่วนร่วม และกำหนดมาตรฐานการบังคับใช้กฎหมายของเจ้าหน้าที่รัฐเพื่อยกระดับการคุ้มครองสิทธิของประชาชนเช่นหากต้องควบคุมตัวผู้ต้องสงสัยกำหนดให้เจ้าหน้าที่ต้องแจ้งให้ญาติหรือทนายทราบอย่างรวดเร็วโดยไม่มีเงื่อนไข เป็นต้น

 

อย่างไรก็ตามการศึกษาครั้งนี้ยังมีข้อจำกัดเรื่องเงื่อนเวลาทำให้ไม่สามารถสัมภาษณ์จำนวนกลุ่มตัวอย่างได้มาก นอกจากนี้การเรียนรู้ของนักศึกษา 89 คน จากหน่วยงานราชการ เอกชน และภาคประชาสังคม ซึ่งมีความแตกต่างหลากหลายทั้งความคิด ความเชื่อ อุดมการณ์ทางการเมืองเป็นเวลานาน 9 เดือน ก็ทำให้เกิดความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นจนเกิดเป็น “4ส6 โมเดล” นั่นคือ “สังคมสุขสถาน สื่อสารอย่างสร้างสรรค์ สมานฉันท์ด้วยสันติวิธี เสริมวิถีธรรมาภิบาล” ยืนยันความเชื่อว่า สันติสุขเกิดได้ภายใต้ความเห็นต่าง

นายสมบัติ บุญงามอนงค์ หนึ่งในนักศึกษา 4ส6 เห็นว่า การรับฟังอีกฝ่ายและเปิดโอกาสให้ทุกฝ่ายได้มีพื้นที่ของตัวเองจะเป็นทางออกหนึ่งของการจัดการความขัดแย้ง

“ผมเรียนรู้ว่า ปัญหาในสังคมไทยเกิดจากความล้มเหลวในการทำความเข้าใจเรื่องพื้นฐานของอีกฝ่ายหนึ่งการฟังและการแบ่งปันพื้นที่ให้ทุกฝ่ายมีที่ยืนเป็นคำตอบที่มีเหตุผลกว่าการชนะกัน สิ่งที่อยากบอกคือ สังคมสามารถเลือกหรือกำหนดทางออกของปัญหาได้ เพราะปัญหาเป็นผลผลิตของสังคม” นายสมบัติ ระบุ 

 

ด้านนายวีระ สมความคิด นักศึกษา 4ส6 อีกคนหนึ่ง กล่าวว่า การเรียนรู้ในหลักสูตรทำให้ค้นพบว่าการจะทำให้คนที่มีความคิดเห็นต่างกันมาเข้าใจกันหรือพูดคุยเพื่อลดความขัดแย้งนั้น ต้องขึ้นอยู่กับหลายเงื่อนไข ต่างฝ่ายต้องเปิดใจกันให้ได้ก่อน ซึ่งก็ต้องขึ้นอยู่กับวุฒิภาวะของทั้งสองฝ่ายต้องใกล้เคียงกันโดยเฉพาะตัวแทนหรือคู่ขัดแย้ง

“ไม่ได้แปลว่าปัญหาจะยุติลงทันทีแต่ก็สามารถลดดีกรีความร้อนแรงลงได้บ้าง แต่ถ้าฝ่ายหนึ่งอยากคุยอีกฝ่ายตั้งป้อมไม่ว่าอย่างไรก็ไม่ฟัง แบบนี้การเจรจาก็ไม่มีประโยชน์ ถ้าวุฒิภาวะไม่ใกล้เคียงกันโอกาส ประสบความสำเร็จในการเจรจาแก้ไขความขัดแย้งคงเป็นไปได้ยากกว่า อีกเรื่องหนึ่งคือ ทั้งสองฝ่ายต้องมีความเป็นตัวของตัวเองและมีจุดยืนมั่นคงจะต้องหนักแน่นเพียงพอ หากมั่นใจว่าทำไปเพื่อแก้ไขความขัดแย้ง มีเป้าหมายเพื่อสันติสุข ก็ต้องมุ่งมั่นสู่เป้าหมายนั้นให้ได้ไม่หวั่นไหวหรือพะวงต่อเสียงของมวลชนทั้งที่สนับสนุนและคัดค้าน” นายวีระ กล่าว

ด้าน พล.อ.เอกชัย ศรีวิลาศ ผู้อำนวยการสำนักสันติวิธีและธรรมาภิบาล สถาบันพระปกเกล้า กล่าวถึงเป้าหมายหลักของการเรียนรู้ในหลักสูตรการเสริมสร้างสังคมสันติสุขว่า ต้องการสร้างพื้นที่สาธารณะเพื่อให้ทุกคนทุกฝ่ายสามารถมาร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันได้ระยะหนึ่ง รับฟังเหตุผลซึ่งกันและกัน ทำให้เห็นว่า แม้เราเห็นต่างก็สามารถจะอยู่ร่วมกันได้

“เราเปิดมาแล้ว 6 รุ่น ซึ่งความสนใจการศึกษาก็แตกต่างกันไป มีทั้งประเด็นภาคใต้ ความขัดแย้งของพหุวัฒนธรรม ความขัดแย้งทางการเมืองฯลฯ รุ่น 6 นี้ภาพคมชัดขึ้นข้อค้นพบสำคัญคือแม้จะมีความเห็นต่างกันทางการเมืองในสังคมข้างนอกแต่เมื่อมาเรียนรู้และอยู่ร่วมกันในหลักสูตรก็ได้เห็นความเอื้ออาทร มีน้ำใจต่อกันและรับฟังกันได้ ทลายความเชื่อเดิมว่า ถ้าอยู่คนละสี คนละฝ่ายแล้วจะทำอะไรร่วมกันไมได้เลย รุ่นนี้ทำให้เห็นแล้วว่า เราอยู่ด้วยกันได้” ผู้อำนวยการสำนักสันติวิธีและธรรมาภิบาล สถาบันพระปกเกล้า ชี้แจงเพิ่มเติม

ทั้งนี้การนำเสนอผลงาน ของนักศึกษาหลักสูตรประกาศนียบัตรชั้นสูงการเสริมสร้างสังคมสันติสุข (สสสส.) รุ่นที่ 6 ยังได้มีการนำเสนอผลงานสะท้อนความขัดแย้งในสังคม ความเห็นต่าง เพื่อมุ่งแสวงหาทางออกของความขัดแย้งร่วมกัน ผ่านละครเวที เรื่อง “สถานีปลายทาง : The Last Station” ซึ่งผู้แสดงมาจากต่างมาจากกลุ่มผู้เห็นต่างทางการเมือง อาทิ นายสมบัติ บุญงามอนงค์ แกนนำกลุ่มวันอาทิตย์สีแดง นายแทนคุณ จิตต์อิสระ อดีต ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ นายวิภูแถลง พัฒนภูมิไท อดีตแกนนำแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) นายวีระ สมความคิด เลขาธิการเครือข่ายประชาชนต้านคอร์รัปชัน และอดีตแนวร่วมพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.) นางพะเยาว์ อัคฮาด อดีตกรรมการศึกษาแนวทางสร้างความปรองดอง สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) และนายศิริชัย ไม้งาม สมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) และอดีตแกนนำ พธม.รุ่น 2

ข่าวที่เกี่ยวข้อง