ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

กรมอุทยานฯ เตรียมจับคู่ "นกแต้วแล้วท้องดำ" หลังพบนกเพศเมียที่ จ.กระบี่ ครั้งแรกในรอบ 3 ปี

Logo Thai PBS
กรมอุทยานฯ เตรียมจับคู่ "นกแต้วแล้วท้องดำ" หลังพบนกเพศเมียที่ จ.กระบี่ ครั้งแรกในรอบ 3 ปี
กรมอุทยานแห่งชาติฯ สรุป 3 แนวทางอนุรักษ์ "นกแต้วแล้วท้องดำ" หลังพบนกเพศเมียที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาประ-บางคราม เตรียมจับคู่กับนกเพศผู้ซึ่งมีอยู่เพียงตัวเดียวใน จ.สุราษฎร์ธานี ขยายพันธุ์หวังเพิ่มจำนวนประชากร

วันนี้ (3 พ.ค. 2559) ที่กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช นายธัญญา เนติธรรมกุล อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติฯ เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 13 เม.ย.2559 เจ้าหน้าที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาประ-บางคราม จ.กระบี่ นายโยธิน มีแก้ว และนายคณิต คณีกุล สำรวจพบนกแต้วแล้วท้องดำเพศเมีย 1 ตัว ซึ่งถือเป็นเรื่องน่ายินดีและเป็นการยืนยันว่า นกแต้วแล้วท้องดำ ซึ่งเป็นสัตว์ป่าสงวนยังไม่สูญพันธุ์ไปจากประเทศไทย โดยครั้งหลังสุดที่มีรายงานพบนกแต้วแล้วท้องดำเพศเมีย 1 ตัว คือในปี 2556 หรือเมื่อ 3 ปีที่แล้ว ขณะหากินกับนกแต้วแล้วลาย

นายธัญญากล่าวว่า ทางกรมอุทยานฯ จึงส่งเจ้าหน้าที่กลุ่มงานวิจัยสัตว์ป่า เข้าไปปฏิบัติงานร่วมกับเจ้าหน้าที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาประ-บางคราม และหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อหาแนวทางในการจัดการที่เหมาะสม ซึ่งสรุปความคิดเห็นได้ 3 แนวทาง ได้แก่

1.ป้องกันภัยนกแต้วแล้วท้องดำเพศเมียที่สำรวจพบจากศัตรูผู้ล่าในธรรมชาติและภัยคุกคามจากมนุษย์

2.หาแนวทางเพิ่มจำนวนนกแต้วแล้วท้องดำในธรรมชาติ ซึ่งควรมีการอนุรักษ์ทั้งในถิ่นที่อยู่อาศัยตามธรรมชาติ และอนุรักษ์นอกถิ่นที่อยู่อาศัย หรือเพาะขยายพันธุ์ควบคู่กันไป

3.ปรับปรุงแผนฟื้นฟูประชากรและอนุรักษ์นกแต้วแล้วท้องดำแห่งชาติ

"นอกจากนี้ ทางกรมอุทยานฯ ยังมีแผนนำนกแต้วแล้วท้องดำเพศผู้ที่อนุบาลไว้ 1 ตัว ใน จ.สุราษฎร์ธานี มาฝึกเพื่อให้นกมีสัญชาตญาณป่า ณ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาประ-บางคราม โดยทำกรงเลี้ยงขนาด 5x5 เมตร ในพื้นที่ใกล้เคียงกับบริเวณจุดที่พบนกแต้วแล้วเพศเมีย ซึ่งหากมีแนวโน้มที่นกจับคู่กัน จะดำเนินการล้อมกรงขนาดใหญ่เพื่อป้องกันภัยคุกคาม และเพิ่มโอกาสสำเร็จในการสืบขยายพันธุ์ต่อไป" อธิบดีกรมอุทยานฯ ระบุ 

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สถานการณ์นกแต้วแล้วท้องดำ เป็นชนิดนกที่มีการกระจายพันธุ์เฉพาะถิ่นในป่าที่ราบต่ำ 100-150 เมตร จากระดับน้ำทะเล ปัจจุบันในประเทศไทยพบเฉพาะที่ผืนป่าเขานอจู้จี้ จ.กระบี่ ทั้งนี้ การทำเกษตรกรรมและสัมปทานป่า ทำให้พื้นที่ป่าที่ราบต่ำเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยสำคัญของนกแต้วแล้วท้องดำลดลงอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้การกระจายและจำนวนประชากรนกแต้วแล้วท้องดำลดลงเช่นกัน จนนำไปสู่การประกาศจัดตั้งเขตห้ามล่าสัตว์ป่าและเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาประ-บางคราม จ.กระบี่

ข่าวที่เกี่ยวข้อง