30 หน่วยงานทั้งภาครัฐ เอกชน รวมทั้งองค์กรอิสระ รับฟังมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาการทุจริตและประพฤติมิชอบของกรมศุลกากร หลังผู้ประกอบการร้องเรียนเจ้าหน้าที่รัฐเรียกรับสินบนเพื่ออำนวยความสะดวกในการนำเข้าและส่งออกสินค้า
นายพัชรดิษฐ์ สินสวัสดิ์ อดีตกรรมการ ป.ป.ช.และตัวแทนออกของใบอนุญาตไทย ระบุว่า จุดอ่อนที่ก่อให้เกิดการทุจริตในกรมศุลกากรมาจากกฎหมายที่ยังให้อำนาจเจ้าหน้าที่รัฐใช้ดุลพินิจ รวมทั้งกฎระเบียบที่เกี่ยวกับการนำเข้าและส่งออกมีจำนวนมากและคลุมเครือทำให้เกิดความล่าช้า
นายกุลิศ สมบัติศิริ อธิบดีกรมศุลกากร ระบุว่า ได้วางมาตรการป้องกันปัญหาเพื่อลดการทุจริตคอร์รัปชั่นให้เกิดผลเป็นรูปธรรม หากพบเจ้าหน้าที่ไปเกี่ยวข้องจะมีมาตรการลงโทษ
นอกจากนี้จะมีการปรับปรุงกฎหมาย เพิ่มค่าปรับกรณีสำแดงราคาเท็จและกำหนดเพดานเงินรางวัลนำจับสินบนจาก 2 เท่าเป็น 4-10 เท่าของสินค้าที่สำแดงราคาเท็จ และลดการใช้ดุลยพินิจของเจ้าหน้าที่ลงร้อยละ 20 โดยนำระบบไอทีมาใช้
นายวิชัย อัศรัสกร รองประธานองค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่น ระบุว่า การแก้ปัญหาทุจริตในกรมศุลกากรจะประสบความสำเร็จได้ เจ้าหน้าที่รัฐต้องร่วมมือกับเอกชนปฎิเสธการรับและจ่ายสินบน
ข้อมูลจากไทยพับลิก้า รายงานว่า นับตั้งแต่ปี 2542-2553 เจ้าหน้าที่กรมศุลกากรและสายสืบรับเงินสินบนและรางวัลไปกว่า 10,000 ล้านบาท มีผู้ประกอบการถูกยึดสินค้าขายทอดตลาดและจ่ายปรับมูลค่าไม่ต่ำกว่า 35,000 ล้านบาท
ผลสำรวจปัญหาการทุจริตคอร์รัปชั่นในกรมศุลกากรยังพบว่า ร้อยละ 36 มีการจ่ายใต้โต๊ะ, ร้อยละ 20 มีการดำเนินงานซ้ำซ้อน ขาดความโปร่งใส ขาดอุปกรณ์และเทคโนโลยีที่จำเป็น ซึ่งเป็นช่องโหว่ให้เกิดการทุจริตระหว่างเจ้าหน้าที่รัฐและเอกชน