ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

12 องค์กรสิทธิชุมชนและมนุษยชน เสนอแก้ กม.ปิดช่องโหว่กระบวนการยุติธรรมละเมิดสิทธิชุมชน

สังคม
9 พ.ค. 59
18:59
1,499
Logo Thai PBS
12 องค์กรสิทธิชุมชนและมนุษยชน เสนอแก้ กม.ปิดช่องโหว่กระบวนการยุติธรรมละเมิดสิทธิชุมชน
12 องค์กรด้านสิทธิมนุษยชนและสิทธิชุมชน จัดเวทีอภิปรายกระบวนการยุติธรรมสิทธิชุมชนกับนักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชน หลังพบประชาชนยังถูกละเมิดสิทธิจากช่องโหว่ของกระบวนการยุติธรรม-ไม่ได้รับความคุ้มครอง พร้อมเร่งผลักดันกฎหมายสิทธิชุมชนที่ร่างมาแล้ว 10 ปี

วันนี้ (9 พ.ค. 2559) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า องค์กร มูลนิธิ และเครือข่ายสิทธิมนุษยชนและสิทธิชุมชน 12 กลุ่ม อาทิ มูลนิธิศูนย์ข้อมูลชุมชน โครงการขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะด้านทรัพยากรแร่ มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม มูลนิธิบูรณะนิเวศ และโครงการคนรุ่นใหม่เพื่อการเปลี่ยนแปลงสังคม มูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม ฯลฯ ได้จัดเวทีอภิปรายกระบวนการยุติธรรมสิทธิชุมชนกับนักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชน ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์

โดยหนึ่งในประเด็นที่ถูกนำมาสะท้อนในเวทีอภิปรายครั้งนี้ คือกรณีที่ชาวบ้านกลุ่มคนรักษ์บ้านเกิดถูกเหมืองทองคำ โดย บริษัท ทุ่งคำ จำกัด ฟ้องร้องทั้งทางแพ่งและอาญากว่า 20 คดี นับตั้งแต่ปี 2550 หลังจากชุมชนออกมาขอร้องให้เหมืองทองแก้ปัญหาผลกระทบที่เกิดขึ้น และคัดค้านการขยายพื้นที่เพิ่มเติม จนนำมาสู่การใช้ความรุนแรงกับกลุ่มคนรักษ์บ้านเกิด โดยชายฉกรรจ์พร้อมอาวุธกว่า 300 คน เข้าปิดล้อมหมู่บ้านและทำร้ายประชาชนเมื่อวันที่ 15 พ.ค.2557 เพื่อขนย้ายแร่ออกจากเหมือง โดยไม่มีเจ้าหน้าที่ตำรวจให้ความช่วยเหลือ

นางสาวจันทรา ธนะวัฒนาวงศ์ นักวิชาการคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี กล่าวว่า กฎหมายและกระบวนการยุติธรรมไทยตีกรอบการพิจารณาคดีระหว่างโจทย์และจำเลย ทำให้ประเด็นสาธารณะอย่างกรณีผลกระทบจากเหมืองทองถูกจำกัดการพิจารณาเพียง2 ฝ่าย ทั้งที่อาจจะกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรของประเทศ ซึ่งเป็นช่องโหว่ที่ทำให้การออกมาเรียกร้องสิทธิชุมชน ไม่ได้ถูกให้ความสำคัญอย่างแท้จริง และไม่ได้รับการคุ้มครองด้วยกฎหมายที่มีอยู่

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นอกจากการอภิปราย ภาคประชาชนยังมีข้อเสนอขอให้ผู้ที่เกี่ยวข้อง ทบทวนการใช้ช่องโหว่ของกระบวนการยุติธรรมมาลิดรอนสิทธิประชาชน โดยขอให้มองถึงบริบทของปัญหาที่แท้จริง รวมถึงขอให้เร่งผลักดันกฎหมายสิทธิชุมชนและกฎหมายวิธีพิจารณาคดีสิ่งแวดล้อมที่ร่างมาแล้วกว่า 10 ปี

ทั้งนี้ ภายหลังเวทีอภิปราย องค์กร มูลนิธิ และเครือข่ายสิทธิมนุษยชนและสิทธิชุมชน 12 กลุ่ม ได้อ่านแถลงการณ์ ประเทศไทย : ยุติการใช้กฎหมายคุกคามต่อนักปกป้องสิทธิมนุษยชน เสริมสร้างกลไกการให้ความคุ้มครองและประกันความรับผิดชอบต่อการละเมิดสิทธิมนุษยชน โดยเรียกร้องให้รัฐบาลไทยและบริษัทเหมืองแร่จำนวนหนึ่ง ยุติการดำเนินคดีทางกฎหมายต่อนักปกป้องสิทธิมนุษยชนในชุมชน รวมถึงร้องขอให้รัฐบาลไทยเสริมสร้างกลไกการให้ความคุ้มครองปกป้องสิทธิมนุษยชนในชุมชน และประกันความรับผิดชอบต่อการละเมิดสิทธิมนุษยชน จากการปกป้องทรัพยากรในบ้านเกิดของตัวเอง

ข่าวที่เกี่ยวข้อง