ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

บ.อัคราฯ เตรียมดำเนินการทางกฎหมาย หลังถูกสั่งยุติเหมืองทอง

เศรษฐกิจ
11 พ.ค. 59
06:47
931
Logo Thai PBS
บ.อัคราฯ เตรียมดำเนินการทางกฎหมาย หลังถูกสั่งยุติเหมืองทอง
บริษัท อัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) ผู้ได้รับสัมปทานเหมืองแร่ทองคำชาตรี ออกแถลงการณ์จะดำเนินการทางกฎหมายต่อไป หลังที่ประชุมคณะรัฐมนตรีมีมติยุติการอนุญาตดำเนินการเพียงสิ้นปีนี้

วันนี้ (11 พ.ค.2559) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวานนี้ ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีสั่งปิดเหมืองชาตรี อัครา สิ้นปี 2559 โดยสั่งห้ามทำเหมืองทองและสั่งหยุดนโยบายสำรวจแร่ทองคำทั่วประเทศ ตามที่ 4 กระทรวงเสนอ ได้แก่ กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยมีมติยุติการอนุญาตอาชญาบัตรพิเศษสำรวจแร่ทองคำและประทานบัตรทำเหมืองแร่ทองคำ รวมถึงคำขอต่ออายุประทานบัตร แต่ให้ต่ออายุใบอนุญาตประกอบโลหะกรรมไปจนถึงสิ้นปี 2559 เพื่อให้สามารถนำแร่ที่เหลืออยู่ไปใช้ประโยชน์ได้ และเร่งปิดเหมือง พร้อมให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่กระทรวงอุตสาหกรรม จะประสานงานกับกระทรวงแรงงาน ในการให้ความช่วยเหลือแรงงาน และให้กระทรวงสาธารณสุขดูแลสุขภาพประชาชน

ขณะที่บริษัท อัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) ผู้ได้รับสัมปทานเหมืองแร่ทองคำชาตรี ออกแถลงการณ์ว่า มติดังกล่าวสร้างความประหลาดใจให้กับบริษัทฯ เป็นอย่างมาก เนื่องจากบริษัทฯ ยังคงมีประทานบัตรที่ได้รับอนุญาตอยู่จนถึงปี 2571 ซึ่งบริษัทฯ ได้วางแผนการทำเหมืองไว้แล้วจนถึงเวลาดังกล่าว พร้อมยืนยันว่ากิจการเหมืองแร่ทองคำชาตรีไม่ได้ก่อให้เกิดผลกระทบต่อทั้งสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชนที่อาศัยอยู่ในชุมชนโดยรอบเหมืองแต่อย่างใด

นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังมีส่วนช่วยสร้างให้เกิดการเติบโตทางเศรษฐกิจแก่ประเทศไทยทั้งในระดับท้องถิ่นและต่อประเทศไทยโดยรวม ขณะนี้ บริษัทฯ ยังไม่ได้รับเอกสารแจ้งเป็นลายลักษณ์อักษรใดๆ จากทางภาครัฐ ซึ่งอย่างไรก็ตาม บริษัทฯ จะได้ทำการหารือกับที่ปรึกษาด้านกฎหมาย เพื่อพิจารณาช่องทางการดำเนินการต่างๆ ตามกฎหมายที่เราสามารถทำได้ต่อไป

ย้อนรอยเหมืองทองคำชาตรี
การดำเนินกิจการเหมืองแร่ทองคำชาตรี นำมาซึ่งรายได้ให้กับประเทศและชุมชน ซึ่งบริษัทได้นำเสนอข้อมูลในการส่งเสริมงบประมาณและดูแลสุขภาพและสิ่งแวดล้อมให้กับชุมชนมาโดยตลอด แต่ด้านหนึ่งยังมีเสียงเรียกร้องเป็นคดีความในชั้นศาลเกี่ยวกับปัญหาด้านมลพิษ และมีการสะท้อนภาพความขัดแย้งในชุมชนระหว่างผู้ที่สนับสนุนและคัดค้านการเปิดกิจการเหมืองแร่

บริษัท อัครา ไมนิ่ง จำกัด เป็นผู้ได้รับสัมปทานเหมืองแร่ทองคำใหญ่ที่สุดในประเทศไทย โดยได้รับใบอนุญาตประทานบัตรเป็นเวลา 20 ปี จากกระทรวงอุตสาหกรรม โดยกิจการเหมืองแร่ชาตรี อยู่ในพื้นที่ จ.พิจิตร และเพชรบูรณ์ ซึ่งมีเหมืองแร่ชาตรีใต้เป็นโครงการแรก และโครงการเหมืองแร่ชาตรีเหนือ

สำหรับเหมืองชาตรีใต้มีจำนวน 5 แปลง ครอบคลุมพื้นที่ 1,400 ไร่ ได้รับประทานบัตรในปี 2543 และหมดอายุในปี 2563 ขณะที่เหมืองชาตรีเหนือ จำนวน 9 แปลง ครอบคลุมพื้นที่ 2,500 ไร่ ได้รับประทานบัตรในปี 2551 และหมดอายุในปี 2571 ทั้งนี้ อายุประทานบัตรแปลงละ 20 ปี สามารถต่ออายุได้ 5 ปี

สำหรับเหมืองชาตรีใต้เริ่มดำเนินการในเชิงพาณิชย์มาตั้งแต่เดือน พ.ย.2544 ขณะที่เหมืองชาตรีเหนือ เริ่มในปี 2551 สำหรับกำลังการผลิตในปัจจุบันอยู่ที่ 6.2 ล้านตันสินแร่ต่อปี โดยผลิตโลหะทองคำได้เป็นจำนวนมากกว่า 130,000 ออนซ์ต่อปี และผลิตโลหะเงินได้เป็นจำนวนมากกว่า 1,000,000 ออนซ์ต่อปี แต่ปัญหาผลกระทบจากการประกอบเหมือง ปรากฏจากการตรวจร่างกายประชาชน 10 คนที่เข้ามาตรวจรักษาที่โรงพยาบาลพิจิตร ในช่วงปี 2552 ที่พบว่ามีทั้งอาการทางผิวหนัง ปวดศีรษะ อาการอักเสบบริเวณดวงตา ซึ่งมีประวัติการสัมผัสและใช้น้ำประปาหมู่บ้าน

การฟ้องร้องในปี 2553 ที่มีตัวแทนชาวบ้านจาก อ.ทับคล้อ จ.พิจิตร เข้ายื่นฟ้องต่อศาลปกครอง เพื่อขอเพิกถอนประทานบัตร และขอให้ระงับการดำเนินการในเขตประทานบัตรทั้ง 5 แปลง กลางเดือน ธ.ค.2553 กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ สั่งให้เหมืองชาตรีเหนือ โดยให้หยุดดำเนินการในบางเวลา แก้ไขปัญหาเสียงดังของการเจาะ ระเบิด เครื่องจักรกลหนัก รวมถึงติดตั้งเครื่องกรองน้ำที่สามารถกรองโลหะหนัก

นอกจากการเรียกร้องด้านสิ่งแวดล้อมปัญหาความขัดแย้งภายในชุมชนและการตรวจสอบการข่มขู่คุกคามเอาชีวิตแกนนำชาวบ้าน ที่ต่อต้านเหมืองแร่ทองคำแห่งนี้ ยังถูกพูดถึงเช่นกัน ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมในพื้นที่รอบกิจการเหมืองทองคำ

กลายเป็นประเด็นสำคัญที่ถูกเผยแพร่ออกสู่สาธารณชนตลอด 1 ปีที่ผ่านมา เมื่อเดือน ก.ค.2557 ชาวบ้านผู้อยู่อาศัยอยู่รอบได้เข้าร้องเรียนคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ให้เข้ามาแก้ปัญหาผลกระทบด้านสุขภาพและสิ่งแวดล้อมซึ่งอาจเกิดขึ้นจากกิจการเหมืองทองคำ จนเป็นที่มาของการตั้งคณะกรรมการทำงานร่วม 5 ฝ่าย ประกอบด้วยตัวแทนชาวบ้าน เหมืองทองคำ ฝ่ายปกครอง ทหาร และทีมวิชาการ มีหน้าที่เก็บข้อมูลในทุกมิติ เพื่อยุติข้อพิพาทที่เกิดขึ้น

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง