วันนี้ (11 พ.ค.) เวลาประมาณ 09.30 น. ที่ศาลากลางจังหวัดกระบี่ พล.อ.สกนธ์ สัจจานิตย์ ประธานคณะกรรมการไตรภาคี ศึกษาปัญหาโรงไฟฟ้าถ่านหินจังหวัดกระบี่ และกรรมการบางส่วน จัดแถลงข่าวกรณีโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ และจะเดินทางต่อไปยังบ้านแหลมหิน ต.ตลิ่งชัน อ.เหนือคลอง จ.กระบี่ เพื่อพบกับประชาชนในพื้นที่ก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การจัดแถลงข่าวครั้งนี้ ไม่มีการแจ้งล่วงหน้าให้กับกรรมการหลายคนได้รับรู้ แต่เป็นการกำหนดขึ้นเองโดยกรรมการเพียงไม่กี่คน พร้อมมีการเตรียมกำลังทหารจำนวนมาก มาเฝ้าระวังการชุมนุมคัดค้านบริเวณศาลากลางจังหวัดด้วย และผู้เดินทางเข้าร่วมฟังการแถลงข่าว มีเฉพาะผู้สนับสนุนโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินเท่านั้น
วันเดียวกัน เวลาประมาณ 09.30 น. ที่หน้าสำนักนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) กรุงเทพฯ เครือข่ายนักศึกษาภาคใต้และเพื่อนนักศึกษาจากหลายมหาวิทยาลัย เดินทางมายื่นหนังสือทวงถามถึง สผ. เรื่องการขอคัดสำเนา EHIA ของโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพาและท่าเทียบเรือ ขนถ่านหินเทพาที่มีกระบวนการทำแบบรวบรัด ขาดการมีส่วนร่วม ซึ่งก่อนหน้านี้เครือข่ายฯได้ยื่นหนังสือขอคัดสำเนาครั้งหนึ่งแล้ว แต่ได้รับการปฏิเสธจาก สผ.ที่จะให้คัดสำเนากิจกรรม วันนี้ทางเครือข่ายจึงมีการยื่นหนังสือข้อเรียกร้องอีกครั้ง โดยมีนางปิยนันท์ โศภนคณาภรณ์ รองเลขาธิการสำนักนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ออกมารับหนังสือ
น.ส.ตัสนีม แท่นบำรุง ตัวแทนเครือข่ายฯ เปิดเผยว่า การมาวันนี้ เครือข่ายคนสงขลา-ปัตตานีไม่เอาโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา เครือข่ายนักศึกษา มอ.ปัตตานีเพื่อความเป็นธรรม ต้องการขอคัดสำเนารายการการศึกษาผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพาและท่าเทียบเรือโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา เมื่อวันที่ 28 เม.ย.2559 เพื่อให้ชาวบ้านมีโอกาสนำข้อมูลโครงการและผลกระทบที่เกิดขึ้นไปศึกษา แต่กลับได้รับคำตอบจาก สผ.ว่า ไม่อนุญาตให้มีการคัดสำเนา หากต้องการให้ไปขอเอาเองจาก กฟผ.ซึ่งเป็นเจ้าของโครงการ
“การที่สผ.ไม่อนุญาตให้ชาวบ้านที่อยู่ในพื้นที่โครงการ และชาวบ้านที่ต้องถูกย้ายออก ไม่มีสิทธิเห็นข้อมูลนั้น เป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง โครงการขนาดใหญ่ที่มีผลกระทบต่อชุมชนกว้างขวาง ประชาชนผู้ได้รับผลกระทบในพื้นที่ และคนไทยทุกคนควรมีสิทธิ์ ในการเข้าถึงข้อมูล การที่ชาวบ้านได้เห็นเอกสาร EHIA ชาวบ้านก็จะได้ช่วยนักวิชาการ ช่วย สผ. ช่วยคณะกรรมการชำนาญการ ในการตรวจสอบ ว่าอะไรจริง อะไรเท็จ อะไรมั่ว อะไรที่ไม่สมบูรณ์ เพื่อจะได้ข้อมูลที่สมบูรณ์ขึ้น และคืนความเป็นธรรมแก่ประชาชนผู้ได้รับผลกระทบที่แท้จริง เพราะเชื่อว่า มีหลายกรณีที่ชาวบ้านในพื้นที่เห็นว่า ไม่มีการลงเก็บข้อมูลใดๆ แต่ทำไมกลับมีข้อมูลระบุในรายงาน” น.ส.ตัสนีมกล่าว