วันนี้ (11 พ.ค.2559) น.ส.พรรณี ศรียุทธศักดิ์ อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กระทรวงแรงงาน เปิดเผยถึงแนวทางดูแลแรงงานที่ได้รับผลกระทบจากคำสั่งปิดเหมืองแร่ทองคำชาตรีของบริษัท อัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) หลังสิ้นปี 2559 โดยแบ่งเป็นพนักงานของบริษัท อัคราฯ 364 คน แรงงานจากบริษัทรับเหมาช่วง 10 บริษัทอีกจำนวน 693 คน ร่วม 1,057 คน ซึ่งตามกฎหมายคุ้มครองแรงงานปี 2541 มาตรา 118 นายจ้างต้องจ่ายค่าชดเชยให้กับแรงงานที่ถูกเลิกจ้าง หากลูกจ้างทำงาน 120 วัน แต่ไม่ถึง 1 ปี จะได้รับค่าชดเชยไม่น้อยกว่า 30 วัน ทำงาน 1 ปี แต่ไม่ถึง 3 ปี ได้ชดเชยไม่น้อยกว่า 90 วัน, ทำงาน 3 ปี แต่ไม่ถึง 6 ปี ได้ชดเชยไม่น้อยกว่า 180 วัน , ทำงาน 6 ปีแต่ไม่ครบ 10 ปี ได้ชดเชยไม่น้อยกว่า 240 วัน และลูกจ้างที่ทำงาน 10 ปีขึ้นไป ได้ชดเชยไม่น้อยกว่า 300 วัน เบื้องต้น บริษัท อัคราฯ ยินดีจ่ายค่าชดเชยตามกฎหมายแรงงาน ส่วนบริษัทรับช่วงเหมาอยู่ระหว่างที่กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ให้คำแนะนำทำความเข้าใจกับนายจ้างถึงข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้อง
สำหรับแรงงานทุกส่วนทั้งพนักงานประจำและลูกจ้างรายวันต้องได้รับสิทธิ์ตามกฎหมายประกันสังคม กรณีการว่างงาน โดยต้องได้รับเงินทดแทนการขาดรายได้ หลังถูกเลิกจ้าง 180 วัน ในอัตราร้อยละ 50 ของค่าจ้าง นอกจากนี้ ยังเตรียมตำแหน่งงานว่างในพื้นที่ไว้รองรับลูกจ้างแล้ว
นายสุรพงษ์ กองจันทร์ทึก ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษากะเหรี่ยงและพัฒนา กล่าวว่า ในช่วงเวลา 7 เดือนจากนี้ไป บริษัทเหมืองแร่ชาตรี ต้องเร่งขนย้ายแร่ออกจากพื้นที่ เพื่อให้ทันกับระยะเวลาคำสั่งปิดเหมืองแร่ในช่วงสิ้นปีนี้ อาจส่งผลกระทบต่อชุมชนโดยรอบ เพราะต้องขนย้ายเครื่องมือหนัก และรถบรรทุกแร่เข้าออกระหว่างตัวเหมืองและชุมชน
นอกจากนี้ ยังตั้งข้อสังเกตว่ามติคณะรัฐมนตรีเมื่อวานนี้ มีลักษณะใกล้เคียงกับการออกมติคณะรัฐมนตรีเช่นเดียวกับกรณีหมู่บ้านคลิตี้ จ.กาญจนบุรี ทำให้ชาวบ้านได้รับผลกระทบ จากการที่บริษัทต้องเร่งขนย้ายแร่ ซึ่งปัจจุบันยังคงพบว่าบริเวณชุมชนรอบหมู่บ้านคลิตี้ยังมีรถและเครื่องจักรของบริษัทเหมืองแร่อยู่ภายในพื้นที่ แม้ว่ารัฐบาลสั่งปิดบริษัทและดำเนินการฟื้นฟูหลังปิดกิจการแล้ว
ปัจจุบัน มีบริษัทที่อยู่ระหว่างยื่นคำขอประทานบัตร บริษัทเดียว คือบริษัท ทุ่งคำ ซึ่งเป็นผู้ประกอบกิจการเหมืองแร่ทองคำใน จ.เลย ซึ่งยื่นขออีก 107 แปลง นอกจากนั้น ยังมีคำขออาชญาบัตรพิเศษ เพื่อสำรวจแร่ทองคำจำนวน 177 แปลงของบริษัท 12 แห่ง ในพื้นที่ 10 จังหวัด ที่อยู่ในภาคกลาง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคตะวันออก ซึ่งคำขอทั้งหมดนี้ต้องยุติตามลงไปด้วยตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวานนี้
ส่วนการประกอบกิจการเหมืองแร่แห่งอื่น ขณะนี้ข้อมูลของกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) ต้นปี 2559 ระบุว่า ยังมีกิจการเหมืองแร่ในประเทศรวม 595 แห่ง ส่วนใหญ่เป็นเหมืองหินที่ยังสามารถประกอบกิจการได้ตามปกติ รวมทั้งสถานประกอบโรงแต่งแร่ โรงโม่หิน อีกจำนวน 1,459 แห่ง สามารถประกอบกิจการได้ตามปกติ หากไม่มีข้อร้องเรียน