วันนี้ (11 พ.ค. 2559) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า บรรยากาศการประชุมทบทวนสิทธิมนุษยชนของประเทศตามกลไก Universal Periodic Review หรือ ยูพีอาร์ (UPR) สมัยที่ 25 รอบที่ 2 ณ นครเจนีวา สมาพันธรัฐสวิส ที่มีนายชาญเชาวน์ ไชยานุกิจ ปลัดกระทรวงยุติธรรม เป็นหัวหน้าคณะผู้แทนไทย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) และกระทรวงศึกษา เข้าร่วมช่วงบ่ายวันนี้ตามเวลาในประเทศไทย พบว่า หลายประเทศ เช่น เบลเยี่ยม ออสเตรเลีย และสหรัฐฯ ยังแสดงความกังวลและเรียกร้องต่อประเด็นการยกเลิกนำพลเรือนขึ้นศาลทหาร การเคารพเสรีภาพในการแสดงความเห็น การแก้ไขมาตรา 112 และการยุติการปรับทัศนคติ ของประเทศไทย
นายชาญเชาวน์ ในฐานะหัวหน้าคณะผู้แทนไทย กล่าวว่า ขอบคุณทุกประเทศที่แสดงความห่วงใยต่อสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในไทยอย่างสร้างสรรค์ แต่ขอยืนยันไทยเคารพเสรีภาพในการแสดงออก แต่ขณะนี้จำเป็นต้องจำกัดบางส่วนเพื่อรักษาความสงบเรียบร้อย และเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตยที่มั่นคงในประเทศ
นายชาญเชาน์ กล่าวต่ออีกว่า ส่วนการนำพลเรือนขึ้นศาลทหาร จะจำกัดเฉพาะความผิดบางประเภทเท่านั้น และทุกคนจะได้รับสิทธิในการพิจารณาคดีอย่างเป็นธรรมเช่นเดียวกับศาลยุติธรรมปกติ และขณะนี้กำลังแก้ไข พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ให้ข้อกฎหมายมีความชัดเจนมากขึ้น อย่างไรก็ดี ไทยจะพยายามต่อไปและทำงานให้หนักขึ้นเพื่อปรับปรุงสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนในประเทศ
ขณะที่ นางอังคณา นีละไพจิตร กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) กล่าวระหว่างร่วมเวทีคู่ขนานยูพีอาร์ที่จัดขึ้นในประเทศไทย ว่า เวทีวันนี้ถือเป็นจุดเริ่มต้นการพูดคุยกับรัฐ โดยเฉพาะประเด็นอ่อนไหว เพราะเป็นกระบวนการที่เน้นความร่วมมือแทนการประณาม
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ส่วน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ยังไม่แสดงท่าทีใด ๆ ต่อเวทียูพีอาร์ แต่เปิดโอกาสให้เครือข่ายพันธมิตรประเทศไทย ประกอบด้วยเอกอัครราชทูตและผู้แทนถาวรประจำสหประชาชาติ เข้าเยี่ยมคารวะในโอกาสเดินทางมาเยือนไทยเมื่อเช้านี้ นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรีได้กล่าวถึงความมุ่งมั่นของไทยในการสร้างความเข้าใจและเพิ่มพูนความร่วมมือกับนานาชาติในทุกระดับ