วันนี้ (12 พ.ค.2559) นางอรรชกา สีบุญเรือง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสากรรม เปิดเผยว่า ขณะนี้มอบหมายให้ฝ่ายกฎหมาย กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) พิจารณาใบประทานบัตรของเหมืองแร่ทองคำชาตรี ซึ่งมีบริษัท อัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) เป็นผู้รับใบอนุญาตและจะสิ้นสุดในปี 2571ว่าจะดำเนินการต่ออย่างไร เพื่อให้สอดคล้องเป็นไปตามแนวทางมติคณะรัฐมนตรี วันที่ 10 พ.ค.2559 ที่ต้องยุติการประกอบกิจกรรมเหมืองแร่ ไปพร้อมๆ กับการประกอบโลหะกรรมของบริษัท ซึ่งใบอนุญาตประกอบโลหะกรรม คณะรัฐมนตรี กำหนดให้ระยะเวลาสิ้นสุดในสิ้นปีนี้
นอกจากนี้ ได้สั่งให้ กพร.ดูแลมาตรการแผนงานฟื้นฟูสภาพแวดล้อม หลังจากเหมืองแร่ยุติประกอบกิจการ โดยให้ยึดตามเงื่อนไขในรายงานการศึกษาผลกระทบด้านสุขภาพ (อีเอชไอเอ) และรายงานการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ)
"ตามหลักของมติคณะรัฐมนตรีนั้น ยืนยันชัดเจนว่าต้องการให้ยุติการทำเหมืองแร่ ซึ่งมีคำสั่งระงับคำขอของผู้ประกอบการที่ขอเข้ามาตอนนี้ไปแล้ว ส่วนกรณีที่ยังต้องพิจารณา คือใบประทานบัตรของบริษัท อัคราฯ ที่ทำเหมืองแร่ชาตรีและจะหมดในปี 2571 ฝ่ายกฎหมายต้องไปดูเพื่อให้เป็นไปตามแนวทางของคณะรัฐมนตรีและในทางปฏิบัตินั้น เมื่อนโยบายของ ครม.ต้องการให้ยุตินโยบายเหมืองแร่ ดังนั้น แม้ว่าใบอนุญาตการทำเหมืองจะหมดปี 2571 แต่ว่าการประกอบโลหะกรรม ซึ่งเป็นขั้นตอนสำคัญ จะสิ้นสุดในสิ้นปีนี้ บริษัทก็ไม่สามารถทำอะไรต่อได้ หรือหากจะทำกิจการต่อ แต่ถลุงทองคำ หรือหลอมทองไม่ได้ ก็ไม่มีประโยชน์" นางอรรชกา กล่าว
สำหรับแผนงานการฟื้นฟูเหมืองแร่ทองคำในวันนี้ มีกลุ่มชาวบ้านที่อาศัยอยู่รอบเหมืองแร่ทองคำ จ.พิจิตร นำโดย น.ส.สื่อกัญญา ธีระชาติดำรง เข้าพบคณะทำงานแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมของ กพร. เพื่อติดตามสอบถามว่า กพร.มีแผนงานจะฟื้นฟูที่ชัดเจนอย่างไร เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนในช่วงระยะเวลา 7 เดือน ที่เหมืองแร่ยังดำเนินงาน โดยกลุ่มชาวบ้านมีความเป็นห่วงเรื่องการใช้เครื่องมือหนักทำงานในพื้นที่มากขึ้น และการเร่งขนย้ายแร่ จะกระทบต่อการใช้พื้นที่ในชุมชนร่วมกัน
ขณะที่ช่วงบ่ายวันนี้ บริษัท อัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) เจ้าของเหมืองแร่ทองคำ จ.พิจิตร จะแถลงความชัดเจนเป็นทางการ หลังจากมีมติคณะรัฐมนตรีสั่งให้การประกอบโลหะกรรมสิ้นสุดในสิ้นปีนี้