จากสถานการณ์การใช้ไฟที่มีปริมาณใช้ไฟฟ้าสูงสุดอย่างต่อเนื่องหรือพีค จนทำลายสถิติครั้งที่ 7 ของปี 2559 ที่่ 29,618.8 เมกะวัตต์เมื่อวานนี้ (11 พ.ค.) และทำลายสถิติวันเดียวถึง 2 รอบ
วันนี้ (12 พ.ค.2559) นายเริงชัย คงทอง ผู้อำนวยการฝ่ายกำลังผลิตไฟฟ้า การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศ (กฟผ.) กล่าวว่า ยังมีโอกาสเกิดสถิติการใช้ไฟฟ้าสูงที่สุดครั้งใหม่ได้อีก โดยปริมาณไฟฟ้าสูงสุดจะเพิ่มขึ้น 200-300 เมกะวัตต์ ส่งผลให้ปริมาณการใช้ไฟฟ้าอาจสูงทะลุถึง 30,000 เมกะวัตต์ ขณะที่ค่าเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้าจะมีแนวโน้มสูงขึ้นด้วย
นายเริงชัย กล่าวกล่าวต่ออีกว่า ปกติช่วงพีคจะเกิดในเวลากลางวันที่มีการทำงานเต็มรูปแบบ แต่การที่พีคขยับเวลามาเกิดช่วงกลางคืน ทำให้ต้องปรับแผนการรณรงค์ประหยัดไฟฟ้าที่ต้องหันมาเน้นช่วงกลางคืนเพิ่มขึ้นจากเดิมที่เน้นเฉพาะช่วงบ่าย ทั้งนี้ ปัจจุบัน กฟผ.สำรองการผลิตไฟฟ้าอยู่ที่ 32,000 เมกะวัตต์ หรือประมาณร้อยละ 10-15 ซึ่งถือว่าเป็นระดับที่ปกติ จึงไม่อยากให้กังวลว่าจะมีปริมาณไฟฟ้าไม่พอใช้
ภาพกราฟิกอธิบายปริมาณการใช้ไฟฟ้าสูงสุดครั้ง 7 ที่ 2559
ด้าน นายทวารัฐ สูตะบุตร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน กระทรวงพลังงาน กล่าวว่า ทางกระทรวงอยู่ระหว่างทดลองโครงการอาสาสมัครปรับพฤติกรรมการใช้ไฟฟ้า 100 หลังคาเรือน โดยติดตั้งอุปกรณ์แสดงปริมาณใช้ไฟฟ้าและปิดเครื่องปรับอากาศผ่านโทรศัพท์มือถือ
ขณะที่ นายเดชรัตน์ สุขกำเนิด อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่า สถานการณ์การใช้ไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้น สอดคล้องกับสภาพอากาศที่มีอุณหภูมิสูง ส่งผลให้ประชาชนใช้เครื่องใช้ไฟฟ้ามากขึ้นทั้งกลางวันและกลางคืน แต่ความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุดยังคงต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้ที่ 32,218 เมกะวัตต์
"อีกปัจจัยที่ส่งผลให้ความต้องการใช้ไฟฟ้าเพิ่มขึ้น คือความล้มเหลวของการรณรงค์การลดการใช้ไฟฟ้าของ กฟผ. ที่ยังทำได้ไม่เต็มที่เพราะสภาพอากาศไม่เอื้ออำนวย จึงเสนอว่าจากนี้ทุกภาคส่วนต้องร่วมกันลดปริมาณการใช้ไฟฟ้าอย่างจริงจัง ทั้งผู้ใช้ไฟฟ้าและ กฟผ. รวมทั้งภาครัฐบาลควรมีการออกกฎหมายกำหนดแบบอาคาร สำนักงาน และที่อยู่อาศัย ให้รองรับการประหยัดพลังงาน เพื่อเป็นการแก้ปัญหาการใช้ไฟฟ้าในระยะยาว" นายเดชรัตน์ ระบุ