วันนี้ (15 พ.ค.2559) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า พื้นที่เลี้ยงหอยแครง ต.คลองโคน อ.เมืองสมุทรสงคราม เกือบ 3,000 ไร่ กำลังได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง หอยแครงจำนวนมากทยอยตายลงเหลือเพียงเปลือกหอย
หอยแครงตายจากภัยแล้ง ทำให้เหลือแต่เปลือกหอย
นายมนัส แพทย์จะเกร็ง เกษตรกรเลี้ยงหอยแครง ต.คลองโคน อ.เมือง จสมุทรสงคราม เป็นอีกคนหนึ่งที่ได้รับผลกระทบ ลูกหอยแครงที่เค้าซื้อมาเลี้ยงด้วยเงิน 1 ล้านบาทตายลงเกือบทั้งหมดเพราะน้ำทะเลเค็มเกินไป
"ปกติแล้วเดือนมีนาคม เมษายน หอยจะเติบโตดี แต่พอมาปีนี้น้ำไม่ลงมาเลย หอยตอนนี้ผอมและก็ตายเพราะว่าความเค็ม ผมคาดว่ามันเค็มจัดเกินไป น้ำเค็มเกินไปหอยจึงตาย"มนัสกล่าว
นอกจากนี้สวนมะนาวของนายธนานุวัฒน์ วิลัยศรี เกษตรกร ต.ดอนมะโนรา อ.บางคนที จ.สมุทรสงคราม ก็ถูกน้ำเค็มรุกมาตั้งแต่เดือนมกราคมที่ผ่านมา ทำให้เขาต้องวัดค่าความเค็มวันละ 2 ครั้ง เพื่อให้มั่นใจว่า ความเค็มจะไม่ส่งผลกระทบกับมะนาว คุณภาพน้ำวันนี้ก็ยังไม่เหมาะกับการรดต้นมะนาวเพราะตัวเลขจากเครื่องวัดที่สูงกว่า 100 แสดงให้เห็นถึงค่าความเค็มที่เกินมาตรฐาน
"ความเค็มทำให้ต้นมะนาวไม่สมบูรณ์ ลูกไม่โต กิ่งแห้ง ธรรมดาจะเก็บได้เบอร์ใหญ่ แต่ช่วงนี้ได้ลูกเล็ก ลูกละประมาณ 70-80 สตางค์ " ธนานุวัฒน์ กล่าว
มะนาวตายเพราะน้ำเค็มรุกพื้นที่สวนมะนาว ต.ดอนมะโนรา อ.บางคนที จ.สมุทรสงคราม
อย่างไรก็ตาม หลายปีที่ผ่านมาภัยแล้งสร้างความเสียหายกับประมงชายฝั่งและพื้นที่เกษตรในจ.สมุทรสงคราม ประชาคมคนรักแม่กลองจึงทำหนังสือพร้อมแนบแผนการแก้ไขปัญหาสภาวะน้ำแล้งถึงผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสงคราม ตั้งแต่วันที่ 14 มกราคมที่ผ่านมา โดยแบ่งเป็นแผนระยะสั้น ระยะกลางและระยะยาว
สำหรับแผนระยะสั้น 6 เดือน เสนอให้เพิ่มเครื่องมือตรวจวัดความเค็มในคลองสำคัญ จัดตั้งศูนย์รับแจ้งน้ำเค็ม-น้ำเสียตลอด 24 ชั่วโมง มีเครื่องมือตรวจวัดออกซิเจน ปรับปรุงการรายงานปริมาณน้ำของชลประทานจังหวัด และอบรมการเก็บตัวอย่างน้ำในพื้นที่ก่อมลพิษ เพื่อให้ชาวบ้านรับมือกับผลกระทบที่จะเกิดขึ้นได้ทัน