วันนี้ (16 พ.ค.2559) นายมงคล คำสุข หัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าอุ้มผาง เปิดเผยว่า เจ้าหน้าที่ชุดปฏิบัติการพิเศษเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าอุ้มผางที่ 3 และชุดลาดตระเวนศูนย์พิทักษ์ป่าอุ้มผางที่ 1 (ห้วยหนองหลวง) ลงพื้นที่เก็บข้อมูลบันทึกภาพตามเส้นทางเก่า 1117 (ช่องเย็น-บ้านอุ้มผางคี) ระหว่างวันที่ 4-9 พ.ค.สามารถบันทึกภาพสัตว์ป่าได้หลายชนิด ได้แก่ สมเสร็จ เก้งหม้อ เสือดำ เสือลายเมฆ ช้าง กวาง หมาใน หมี ลิงเสน
หัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าอุ้มผาง ระบุว่า เจ้าหน้าที่ได้ทำการบันทึกภาพสัตว์ป่ามาตั้งแต่ปี 2557 ทำให้เห็นสัตว์ป่าบางชนิดที่ไม่เคยเห็นร่องรอยมาก่อน เช่น เสือลายเมฆ เพียงพอนเส้นหลังขาว ซึ่งสะท้อนถึงความอุดมสมบูรณ์ของผืนป่าที่ทำให้สัตว์ป่าเริ่มกลับมายังเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าอุ้มผาง หลังจากที่เคยถูกรบกวนจากการตั้งชุมชนและการตัดถนน
นายมงคลกล่าวว่า การบันทึกภาพสัตว์ป่าในครั้งนี้ สัตว์ที่มีนัยยะสำคัญ คือ กลุ่มสัตว์ป่าสงวน เช่น สมเสร็จ เสือดำและเก้งหม้อ นอกจากนี้ข้อมูลภาพยังยืนยันข้อมูลตัวเลขและการกระจายชนิดของสัตว์ป่าที่สำคัญและบอกถึงทิศทางการเคลื่อนที่ของสัตว์ในเขตรอยต่อผืนป่าตะวันตกว่ามีการเคลื่อนที่ขึ้นไปยังผืนป่าทางภาคเหนือมากขึ้น และสามารถกระจายพันธุ์ถึงกลุ่มป่าแม่ตื่น-อมก๋อย ในเขต จ.เชียงใหม่
นายมงคลให้ข้อมูลว่า ในปี 2556 เจ้าหน้าที่ลาดตระเวนพบว่ามีสัตว์ป่า 11 ชนิดหลักๆ เข้ามาใช้ถนนสาย 1117 และพื้นที่ใกล้เคียง ต่อมาในปี 2557 เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าอุ้มผาง ได้ร่วมกับอุทยานแห่งชาติแม่วงก์ อุทยานแห่งชาติคลองลาน วางกล้องดักถ่ายภาพสัตว์ป่าครั้งแรก โดยได้รับการสนับสนุนกล้องจากกองทุนสัตว์ป่าโลก (WWF) ทำให้สามารถเก็บภาพสัตว์ป่าสงวน สัตว์ป่าคุ้มครอง สัตว์ป่าที่มีสถานะหายากใกล้สูญพันธุ์ และถูกคุกคามอีกหลายชนิด โดยสถิติชนิดสัตว์ป่าที่สามารถบันทึกภาพได้ทั้งภาพนิ่ง ภาพเคลื่อนไหว และภาพจากช่างภาพที่เข้าศึกษาเส้นทางธรรมชาติ ในอุ้มผาง ระหว่างเดือน ม.ค.2557-ม.ค.2558 มีสัตว์ป่าจำนวน 37 ชนิด
ทั้งนี้การเก็บข้อมูลบันทึกภาพสัตว์ป่าจะเป็นประโยชน์ต่อการติดตามพันธุ์สัตว์ ทิศทางการเคลื่อนไหว รวมถึงเป็นประโยชน์ต่อการติดตามจำนวนเสือโคร่งในผืนป่าตะวันตก ที่ไทยมีพันธะกรณีตามแผนปฏิบัติการแห่งชาติเพื่อการอนุรักษ์เสือโคร่ง ปี 2553-2565 นายมงคลกล่าว