วันนี้ (17 พ.ค.2559) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ศ.สมพงษ์ จิตระดับ อาจารย์คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยว่า คำสั่งดังกล่าวไม่ได้เหนือความคาดหมาย เพราะประเด็นการประเมินคุณภาพการศึกษาทุกฝ่ายทราบดีว่าเกิดปัญหา ส่งผลให้ดึงครูออกจากห้องเรียนและเพิ่มภาระให้ครู ซึ่งเป็นไปตามผลการศึกษาของสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) จนนำไปสู่ข้อเสนอให้ชะลอการประเมินคุณภาพการศึกษาภายนอกรอบที่ 4 ที่จะต้องประเมินภายในปีนี้ ออกไปก่อนอีก 2 ปี เพื่อจัดทำเกณฑ์ชี้วัดและมาตรฐานการประเมินให้ครอบคลุมมากขึ้น
ด้าน ศ.อมรวิชช์ นาครทรรพ อดีตคณะกรรมการ(บอร์ดสมศ.) ตั้งข้อสังเกตว่า คำสั่งนี้ระบุที่ตัวบุคคล จึงเป็นไปได้ที่อาจมีความขัดแย้งในแนวทางปฏิบัติงานของ สมศ.กับกระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งที่ผ่านมานายชาญณรงค์ไม่เห็นด้วยกับข้อเสนอให้ชะลอการประเมินคุณภาพการศึกษาภายนอก รอบ 4 เพราะยืนยันปฏิบัติตามกรอบกฎหมายที่ต้องจัดการประเมินทุกๆ 5 ปี
พร้อมทั้งเห็นว่า เมื่อรัฐบาลมีแนวทางปรับระบบการประเมินคุณภาพการศึกษาใหม่ แม้จะเป็นเรื่องดี แต่ควรทำทั้งระบบไม่ใช่เพียงสมศ.เพราะที่ผ่านมาพบว่า สถานศึกษาหลายแห่งไม่ได้นำผลประเมินจากสมศ. ไปปรับปรุงพัฒนาคุณภาพของตัวเอง ส่งผลให้การประเมินไม่มีความหมาย