จากกรณี นายวันชัย ดนัยตโมนุท ผู้ต้องหายิงอาจารย์และเจ้าหน้าที่อาจารย์ มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนคร เสียชีวิต 2 คน อยู่ในอาการเครียด ใช้อาวุธปืนจ่อที่ศีรษะด้านขวาตลอดเวลา ในโรงแรมสุภาพ ย่านสะพานควาย
แม้เจ้าหน้าที่ตำรวจ ญาติ และคนสนิท จะสลับสับเปลี่ยนกันเข้าไปใกล้ตัวนายวันชัย เพื่อเกลี้ยกล่อมแบบเผชิญหน้านานเกือบ 5 ชั่วโมง คือตั้งแต่เวลาประมาณ 14.00 น. จนถึง 18.00 น.
แล้วในห้วงเวลาที่ทุกคนไม่คาดคิด นายวันชัยตัดสินใจลั่นไกปืน กระสุนลั่นเข้าที่ขมับขวาทันที ในเวลา 18.44 น. เจ้าหน้าที่และญาติกรูกันเข้าไปรีบนำตัวส่งโรงพยาบาลเปาโล ซึ่งอยู่ใกล้ที่เกิดเหตุที่สุดในทันที
เหตุการณ์ลักษณะนี้ ไม่เกิดขึ้นมาระยะหนึ่งแล้วในสังคมไทย สิ่งหนึ่งที่ถูกตั้งคำถามคือ "มีวิธีการหรือหลักการอย่างไร ในการเจรจาต่อรองกับผู้ที่อยู่ในสภาวะกดดัน เครียด และพยาบยามฆ่าตัวตายเช่นนี้"
ไทยพีบีเอสออนไลน์ ค้นข้อมูลพบว่า มีหลักการเกลี้ยกล่อมคนร้าย หรือผู้ที่พยายามฆ่าตัวตาย ตามหลักวิธีสากลนั้น หน่วยสืบสวนคดีอาญาของกระทรวงยุติธรรมสหรัฐอเมริกา หรือ เอฟบีไอ ระบุว่า ระดับการเจรจาต่อรองแบ่งได้เป็น 3 ประเภท คือ
1.เจรจาเพื่อหาข้อมูลเบื้องต้น
2.เจรจาเพื่อถ่วงเวลาก่อนมืออาชีพจะมารับช่วงต่อ
3.เจรจาเพื่อแก้ไขสถานการณ์
ซึ่งเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นบ่อยและต้องอาศัยการเจรจามากที่สุดคือ การพยายามฆ่าตัวตาย โดยผู้ที่ต้องการฆ่าตัวตายมักเป็นผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือ เนื่องจากไม่สามารถหาทางออกให้กับตัวเองได้ ดังนั้น ผู้ที่เผชิญเหตุการณ์ในฐานะผู้เจรจาต่อรอง ควรใช้เทคนิคการฟังอย่างตั้งใจ (Active Listening Skills) หรือ ALS ประกอบด้วย 1.การฟัง 2.การเข้าร่วม 3.การเข้าใจ และ 4.การจดจำ
นอกจากนี้ เอฟบีไอ ยังแนะนำถึง วิธีการเจรจาต่อรองกับผู้ที่พยายามคิดฆ่าตัวตาย ไว้ดังนี้
1.การลดปฏิปักษ์ หรือการมีสติในการเริ่มเจรจา ผู้เจรจาต้องฟังอย่างตั้งใจ และทวนคำพูดสุดท้ายของประโยค
2.การใช้คำถามปลายเปิด เพื่อเปิดโอกาสให้ระบาย ได้ทั้งข้อมูลและความรู้สึกหลีกเลี่ยง คำถามปลายปิด เพราะไม่ทำให้เกิดสัมพันธภาพ ไม่ได้ระบาย เช่น เกิดอะไรขึ้น เพราะอะไรคะ พอจะเล่าให้ฟังได้มั้ย
3.การกระตุ้นให้เขาพูดกับเรา เพื่อรับรู้ว่าเราฟังอยู่ เช่น "ครับ" "ผมเข้าใจ" "ใช่ครับ" "แล้วไงต่อ" "ผมเห็นด้วย" ให้เขาพูดต่อไปเรื่อยๆ
4.การทวนความโดยไม่เปลี่ยนแปลงความหาย เช่น การสรุปโดยใช้คำพูดของเราเอง เพื่อให้เขารู้ว่าเราเข้าใจความคิดของเขา
5.การเข้าใจความรู้สึกแล้วสื่อสารให้เขารู้ เป็นการสะท้อนความรู้สึก สร้างความเห็นอกเห็นใจ ทำให้เขาผ่อนคลาย
6.การสื่อสารที่มาจากผู้เจรจาเอง เช่น "ฉันรู้สึกว่าคุณ..." "ฉันเข้าใจว่าคุณคงลำบากมาก" "ฉันอยากเสนอทางเลือกให้กับคุณ"
7.ใช้วิธีเงียบในช่วงที่ผู้คิดฆ่าตัวตายมีอารมณ์รุนแรง โดยไม่ตอบโต้
และ 8.สรุปประเด็นที่สำคัญเป็นช่วงๆ เพื่อตรวจสอบความเข้าใจที่ถูกต้อง
ซึ่งเทคนิคดังกล่าวจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม คือ
1.ทำให้ผู้เจรจามีทักษะในการตั้งใจฟังอย่างจริงจัง หรือ ALS
2.มีความรู้สึกเห็นอกเห็นใจร่วม
3.เกิดสัมพันธภาพที่ผู้คิดฆ่าตัวตายจะไว้ใจผู้เจรจา
4.ผู้คิดฆ่าตัวตายเชื่อในคำพูดของผู้เจรจา
และอาจส่งผลถึง 5.คือการเลิกพยายามฆ่าตัวตาย
ขณะที่การเจรจาต่อรองในสถานการณ์วิกฤติ เอฟบีไอ ระบุว่า ไม่แนะนำให้ประชาชนทำหน้าที่เจรจาต่อรองกับคนร้าย เนื่องจากการเจรจาต่อรองนั้นมีความซับซ้อน ความเครียด และต้องใช้ความรู้มาก ด้านเจ้าหน้าที่ตำรวจซึ่งทำหน้าที่เจรจาต่อรองนั้น ต้องผ่านการฝึกมาโดยเฉพาะ ได้รับการคัดเลือกมาเป็นพิเศษ รู้ขั้นตอนการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ตำรวจอย่างดี และทำงานเป็นทีม
ขณะที่ เว็บไซต์กองกำลังการปฏิบัติการพิเศษ (หน่วยสวาท) ตำรวจภูธรภาค 2 อ้างข้อมูลจาก สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ว่า ทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติได้กำหนดแผนรักษาความสงบ แผนเผชิญเหตุเกี่ยวกับการใช้ทีมเจรจาต่อรองในสถานการณ์ต่าง ๆ เช่น การจับตัวประกัน คนคิดจะฆ่าตัวตาย การชุมประท้วง การล้อมจับคนร้ายที่หลบหนีอยู่ในวงล้อมตำรวจ ทั้งในพื้นที่ป่าหรือภายในตัวอาคาร ฯลฯ โดยยุทธวิธีทั้งหมดต้องปฏิบัติภายใต้หลักการว่า ไม่ต้องการให้มีการสูญเสียเลือดเนื้อ หรือความเสี่ยงต่อตัวประกัน เจ้าหน้าที่ หรือการก่อการจลาจล
นอกจากนี้ ข้อมูลจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ยังระบุถึง หลักปฏิบัติในการต่อรองแบบซึ่งหน้า ที่ตำรวจชุดแรกหรือเจ้าหน้าที่ของชุดเจรจาต่อรองสามารถใช้วิธีการเจรจาได้หลายวิธี เช่น การใช้โทรศัพท์ แต่ถ้าหากคนร้ายต้องการเจรจาต่อรองแบบพูดคุยกันโดยตรง อาจเกิดอันตรายต่อผู้เจรจาต่อรองทั้ง 2 ฝ่ายได้ จึงควรยึดหลักปฏิบัติดังนี้
1.ตกลงสัญญากับคนร้ายให้แน่นอนว่าจะไม่ทำร้ายผู้เจรจาต่อรอง
2.อย่าพูดหรือเจรจากับคนร้าย หากคนร้ายยังเล็งปืนมาที่ผู้เจรจา ต้องยืนยันให้คนร้ายลดปืนลงก่อน
3.จะเข้าไปพูดเจรจากันซึ่งหน้าได้ก็ต่อเมื่อได้เริ่มต้นเจรจามาแล้วได้ระยะหนึ่ง จนแน่ใจได้ว่าคนร้ายมีเหตุผล หรือมีความเชื่อถือไว้ใจผู้เจรจาแล้วเท่านั้น
4.อย่าเข้าไปเจรจาซึ่งหน้ากับคนร้าย ในกรณีที่มีคนร้ายตั้งแต่สองคนขึ้นไป
5.พยายามสบตากับคนร้ายตลอดการเจรจา
6.ให้มีช่องทางหลบหนีออกหรือที่กำบังสำหรับผู้เจรจาเสมอ
7.อย่าหันหลังให้แก่คนร้าย
8.ก่อนที่จะเข้าไปพูดเจรจาซึ่งหน้า จะต้องมีการบอกตำนิ รูปพรรณหรือการแต่งกายของทั้งคนร้ายและผู้เจรจาต่อรอง
9.พยายามรักษาระยะปลอดภัย ระหว่างคนร้ายและผู้เจรจาไว้เสมอ
และ 10.ภายหลังเจรจาแล้วให้จดบันทึกผลการเจรจากบคนร้ายซึ่งหน้านี้
เรียบเรียงข้อมูลจากเว็บไซต์กองกำลังการปฏิบัติการพิเศษ (หน่วยสวาท) ตำรวจภูธรภาค 2 www.inv.p2.police.go.th และ เว็บไซต์เสริมสร้างทักษะและเรียนรู้การป้องกันตัวด้วยมือเปล่าและอาวุธ thaiselfdefense.blogspot.com