จากกรณี คนงาน 7 คน ใน ต.มาบยางพร อ.ปลวกแดง จ.ระยอง ถูกฟ้าผ่าฟ้าผ่า ขณะทำงานปรับพื้นที่ในไซด์ก่อสร้าง จนมีผู้เสียชีวิต 1 คน บาดเจ็บ 6 คน เมื่อต้นเดือน พ.ค. 2559
วันนี้ (17 พ.ค. 2559) นายวันชัย ศักดิ์อุดมไชย อธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา กล่าวว่า ส่วนใหญ่แล้วฟ้าผ่าจะเกิดในช่วงของฤดูร้อน แต่ถ้ามีฝนฟ้าคะนอง หรือพายุฝนฟ้าคะนอง สามารถทำให้เกิดฟ้าผ่าได้เช่นกัน ทั้งนี้ หากสังเกตจะพบว่าก่อนฟ้าจะผ่าหรือมีเม็ดฝนโปรย จะมีประจุไฟฟ้าวิ่งอยู่ในก้อนเมฆเห็นเป็นแนวสว่าง ซึ่งต้องระวัง เพราะพายุฝนฟ้าคะนองจะเกิดก่อนหรือช่วงขณะมีฝนตกไม่เกิน 15 นาที ฉะนั้น ต้องระวังในช่วงต้นเมื่อเกิดฝนตก
ด้าน พญ.พิมพ์ภา เตชะกมลสุข แพทย์ชำนาญการพิเศษ สำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค กล่าว่า อัตราผู้ที่ถูกฟ้าผ่าในประเทศไทยไม่ได้สูงขึ้น ตั้งแต่ปี 2554-2558 จำนวนผู้บาดเจ็บรุนแรงจากการถูกฟ้าผ่ามี 154 คน เฉลี่ยปีละ 31 คน ส่วนอัตราการเสียชีวิตอยู่ที่ร้อยละ 23.38 และช่วงเวลาที่คนถูกฟ้าผ่ามากที่สุดคือเดือน พ.ค.
“ในวันที่มันมีพายุฝนฟ้าคะนองไม่ว่าก่อนเกิดฝนตก ขณะเกิดฝนตก หลังเกิดฝนตก ขอให้ประชาชนหลบอยู่ในที่ปลอดภัย เช่น ในรถยนต์ อาคาร และพยายามอยู่ห่างจากสื่อนำไฟฟ้า เช่น ต้นไม้สูง ถ้าเกิดอยู่ในที่โล่งแจ้งไม่ควรไปหลบอยู่ภายใต้ต้นไม้ใหญ่ กรณีที่ไม่มีที่หลบขอให้อยู่ใต้ต้นไม้เตี้ยแทน
ขณะที่ นายบัญชา ธนบุญสมบัติ นักวิชาการศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ กล่าวว่า ฟ้าผ่าที่สร้างอันตรายกับมนุษย์มีหลายรูปแบบ เช่น ผ่าโดยตรงมาที่คน แต่ฟ้าผ่ารูปแบบนี้มีโอกาสเกิดขึ้นได้น้อย
นายบัญชา กล่าวต่ออีกว่า รูปแบบต่อมาเป็นกรณีที่เกิดบ่อยที่สุด คือฟ้าผ่าลงมาใกล้กับจุดที่มนุษย์ยืนอยู่แต่ไม่โดนตัว แต่กระแสไฟจะวิ่งกระจายไปรอบๆ จะมีบางส่วนวิ่งเข้าหาทำให้มีโอกาสถูกฟ้าผ่าได้เช่นกัน
“หากยืนอยู่ใกล้วัถตุสูง เช่น ต้นไม้ หรือเสาไฟ เมื่อฟ้าผ่าลงมาและความชื้นในอากาศลดต่ำลงมาก กระแสไฟฟ้าบางส่วนจะกระโดดออกมาและวิ่งเข้าหามนุษย์ ทำให้ถูกฟ้าผ่าได้เช่นกันแม้จะยืนห่าง 1-2 เมตร อย่างไรก็ดี ในกรณีแบบนี้สามารถเกิดขึ้นในบ้านได้เช่นกันหากไม่มีการติดตั้งสายดิน เพราะเมื่อฟ้าผ่าลงมาที่ตัวบ้าน กระแสไฟฟ้าอาจลงมาตามสายไฟและกระโดดออกมาจากปลั๊กไฟเข้าสู่ผู้อาศัยในบ้านได้” นักวิชาการศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ ระบุ