ทุเรียนหมอนทองเกรดเอ 2 ตู้คอนเทนเนอร์ ปริมาณ 36 ตัน กำลังถูกส่งไปขายที่ประเทศจีนโดยมีผู้รวบรวมผลไม้หรือ "ล้ง" เป็นผู้ดำเนินการ โดยอารีย์ แก้วไชโย เจ้าของล้งทุเรียน อ.ท่าใหม่ จ.จันทบุรี กล่าวว่า ในปี 2559 ต้องซื้อทุเรียนจากหลายแหล่ง ทั้งซื้อตรงจากชาวสวนและให้พ่อค้ารายย่อยรวบรวมทุเรียนมาให้ เพราะผลผลิตมีน้อยจากปัญหาภัยแล้ง จึงต้องแข่งขันกับล้งที่เกิดขึ้นจำนวนมาก
วิธีการซื้อทุเรียนของล้งจีน จะส่งตัวแทนคนไทยหรือพ่อค้าคนกลางไปเจรจาซื้อทุเรียนล่วงหน้าจากเกษตรกร โดยทำสัญญาแบบเหมาสวน ซึ่งจะให้ราคาสูงและจ่ายเงินมัดจำล่วงหน้า
ความต้องการที่เพิ่มขึ้นสวนทางผลผลิตที่ลดลง ทำให้ตลอดเส้นทางใน อ.ท่าใหม่ จ.จันทบุรี มีพ่อค้าคนกลาง ตัวแทนล้ง มาดักซื้อผลผลิตจากเกษตรกรเพื่อนำไปขายต่อหรือส่งให้ล้งจีนและล้งไทย ทำให้ตลาดทุเรียนคึกคักอย่างมากและมีราคาสูง
นายไพศาล ฐานาวิวัฒน์ ชาวสวนทุเรียน อ.ท่าใหม่ กล่าวว่า การที่ล้งจีนเข้ามารับซื้อทุเรียนช่วยให้เกษตรกรขายทุเรียนได้ในราคาสูงและมีตลาดรับซื้อแน่นอน
ด้านนายไพโรจน์ ปิติพันธรัตน์ ชาวสวนทุเรียน อ.แกลง จ.ระยอง เห็นว่า การขยายตัวของล้งจีนเป็นสิ่งที่น่ากังวลสำหรับเกษตรกรไทย แม้ระยะสั้นจะขายทุเรียนได้ราคา แต่ระยะยาวหากผู้ประกอบจีนรวมตัวกันไม่รับซื้อ หรือเป็นผู้กำหนดราคาเอง อาจจะส่งผลให้ราคาทุเรียนรวมถึงผลไม้ชนิดขึ้นหรือลงได้ พร้อมเสนอว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรควบคุมไม่ให้มีล้งต่างชาติขยายฐานการค้ามากเกินไป เพราะหากไม่มีการควบคุมจะส่งผลต่อเรื่องการส่งออกและการกำหนดราคาผลไม้ไทยและทำให้ผู้ประกอบการไทยแข่งขันยาก
ขณะที่ น.ส.วิบูลย์ลักษณ์ ร่วมรักษ์ อธิบดีกรมการค้าภายใน ระบุว่า ได้ส่งบัญชีรายชื่อล้งจีนทั้งที่เป็นคนจีน หรือร่วมทุนกับคนไทย 1,094 รายทั่วประเทศ ให้กรมพัฒนาธุรกิจการค้าไปตรวจสอบโครงสร้างผู้ถือหุ้น รวมทั้งเส้นทางการเงินว่ามีพฤติกรรมอำพรางให้คนไทยถือหุ้นแทนหรือเป็นนอมินีหรือไม่ เพราะต่างชาติไม่สามารถทำธุรกิจขายปลีกผลไม้ในประเทศหากไม่ได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว