ต้นข้าวที่ยังรอดชีวิตอยู่ 1 ใน 3 จากทั้งหมดเกือบ 16 ไร่ ของหวิ่น วา ทาม ชาวนาใน อ.สุคเตอ จ.เกียนซาง เป็นข้าวที่เริ่มปลูกเมื่อกลางเดือน มี.ค. น้ำที่หล่อเลี้ยงที่นาแปลงนี้ เป็นน้ำที่สูบขึ้นมาจากคลองส่งน้ำในช่วงที่น้ำจืด ยังไม่ถูกแทนที่ด้วยน้ำเค็มจากทะเล ที่ห่างออกไป 25 กม. ขณะที่ต้นข้าวในนาอีกส่วนที่เพิ่งเริ่มปลูกกลางเดือน เม.ย.มีสภาพที่เหลือรอดไม่ถึง 1 เปอร์เซ็นต์ บนนาข้าวที่ดินมีสภาพแตกระแหง
หวิ่นเล่าให้ฟังว่า นี่เป็นครั้งแรกที่นาข้าวของเขาต้องอยู่ในสภาพนี้ น้ำเค็มรุกเข้ามาถึงคลองที่เขาใช้สูบน้ำจืดเข้านา หากเป็นภาวะปกติน้ำเค็มจะขึ้นมาถึงห่างจากที่นาของเขาประมาณ 5 กม. หวิ่นบอกว่า หากฝนยังไม่ตกลงมาในช่วง 2 สัปดาห์นี้ เขาจะต้องสูญเสียข้าวในฤดูเพาะปลูกแรกของปีราว 12-15 ตัน ระหว่างนี้รายได้ที่จะทดแทนรายได้จากการทำนา จึงมาจากการขายเป็ด ไก่ ที่เลี้ยงไว้ข้างนาข้าวสีเขียวส่วนสุดท้ายของฤดูเพาะปลูกแรก
“น้ำเค็มรุกเข้ามาหนักกว่าปีก่อนๆ แดดแรง ฝนมาช้า ถ้าเป็น 2-3 ปีก่อน เวลานี้ฝนมาแล้ว” หวิ่นอธิบายถึงภาวะธรรมชาติของฤดูกาลที่เปลี่ยนไปในปีนี้
เมื่อถามว่า มีการแจ้งเตือนจากหน่วยงานราชการหรือไม่ หวิ่นกล่าวว่า เขาได้รับการแจ้งเตือน แต่ไม่คิดว่าจะต้องเจอสถานการณ์นี้ ด้วยเพราะความคุ้นเคยกับดินน้ำลมฝน ทำให้เขายังคงปลูกข้าวตามปกติ ตอนนี้สิ่งที่ทำได้ คือการรอให้ฤดูฝนที่มาช้ากว่าปีก่อนๆ เริ่มตกในพื้นที่ “เราเป็นชาวนา ปลูกข้าว ไม่มีแผนอื่นนอกจากรอฝน รอน้ำจืด”
ภัยแล้งที่รุนแรงในปีนี้ รัฐบาลเวียดนาม ประเมินว่า นาข้าวในพื้นที่ภาคกลางของประเทศและตอนใต้ของดินดอนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขง จะเสียหายประมาณ 1.46 ล้านไร่ องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) คาดการณ์ตัวเลขผลผลิตข้าวปีนี้ของเวียดนามว่า จะลดลงร้อยละ 1.5 เหลือ 44.5 ล้านตัน จากปีก่อน 45.2 ล้านตัน เนื่องจากถูกผลกระทบจากภัยแล้งและการรุกของน้ำเค็มในสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขง ขณะที่ตัวเลขการส่งออกข้าวยังคาดว่าจะอยู่ที่ 8.7 ล้านตัน ตามการคาดการณ์ก่อนหน้านี้
สภาพความแห้งแล้งของนาข้าวใน จ.ซับชาง จังหวัดชายฝั่งทะเลทางตอนใต้ของสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขงเวียดนาม
เหวียน ฮิว ทรุง รองผู้อำนวยการสถาบันวิจัยด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ มหาวิทยาลัยเกิ่นเทอ กล่าวว่า ภัยแล้งจะไม่กระทบความมั่นคงทางอาหารภายในประเทศ เพราะความเสียหายเกิดกับฤดูเพาะปลูก 1 ฤดูเท่านั้น แต่อาจกระทบต่อตลาดโลกบ้างถ้าเวียดนามไม่สามารถส่งออกได้ในปริมาณปกติ ส่วนระยะยาว ยังไม่สามารถคาดการณ์สถานการณ์น้ำได้ พื้นที่สามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขง อาจเกิดน้ำท่วมในฤดูฝน ซึ่งอาจกระทบการปลูกข้าว จึงต้องเตรียมพร้อมรับมือทั้งภัยแล้งและน้ำท่วม
ด้าน ศ.โว ถอง ซอน ผู้เชี่ยวชาญด้านข้าว และอธิการบดีมหาวิทยาลัยนัมเกิ่นเทอ ให้ข้อมูลที่น่าสนใจว่า ผลผลิตข้าวที่สูญเสียจากภัยแล้งและน้ำเค็ม ไม่กระทบต่อความมั่นคงทางอาหารของเวียดนาม เนื่องจากพื้นที่ปลูกข้าวบริเวณชายฝั่งของสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขง เป็นพื้นที่ที่รัฐบาลส่งเสริมให้ขยายพื้นที่ปลูกออกไป เพื่อเพิ่มปริมาณข้าว ผลผลิตข้าวที่ปลูกได้บริเวณชายฝั่ง จึงเป็นข้าวส่วนเกินที่ไม่กระทบปริมาณผลผลิตโดยรวม
ศ.โว อธิบายว่า ข้าวของเวียดนามปลูกได้ปีละ 3 ครั้ง และใช้เวลาเพียง 3 เดือน ถึง 3 เดือนครึ่ง ต่อ 1 ฤดูกาลเพาะปลูก มีผลผลิตต่อไร่สูงถึง 15-20 ตัน ต่อเฮกตาร์ต่อปี เมื่อเปรียบเทียบกับข้าวไทยมีผลผลิตเพียง 2-3 ตัน ต่อ เฮกตาร์ต่อปี และคุณภาพต่ำเมื่อเทียบกับข้าวไทย ระดับราคาจึงไม่สูง ซึ่งเป็นการผลผลิตเพื่อการบริโภคในประเทศ รวมทั้งส่งออกให้ประเทศผู้ซื้อข้าวรายใหญ่ อย่างฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย
“รัฐบาลต้องการผลิตข้าวให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ ด้วยเหตุผลเรื่องความมั่นคงทางอาหาร แต่ทุกปีเรามีข้าวส่วนเกินมากกว่าปีละ 7 ล้านตัน”
ผู้สื่อข่าวตั้งข้อสังเกตว่า ภัยแล้งรุนแรงปีนี้ จะเป็นจุดเปลี่ยนของนโยบายเวียดนามหรือไม่ ศ.โว กล่าวว่า เร็วๆ นี้ รัฐบาลเวียดนามเตรียมการหารือเพื่อปรับทิศทางการปลูกข้าวของเวียดนาม โดยเน้นการผลิตเพื่อความมั่นคงทางอาหารในประเทศ และการผลิตเพื่อส่งออกต้องเป็นปลูกข้าวในพื้นที่ที่เหมาะสมที่สุดเพื่อยกระดับคุณภาพข้าวเพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับการส่งออก
ธันยพร บัวทอง ผู้สื่อข่าวไทยพีบีเอสออนไลน์