จะเรียกแปดริ้ว หรือฉะเชิงเทรา ก็เป็นที่เข้าใจกันในท้องถิ่นว่าหมายถึงตัวเมืองฉะเชิงเทรา ซึ่งสายน้ำบางปะกงไหลผ่าน จนมีตำนานความสมบูรณ์ของลำน้ำที่มีปลาชุกชุม แม้ปลาช่อนยังตัวใหญ่ ขนาดแล่เนื้อตากแห้งยังต้องแล่ถึง 8 ริ้ว ทั้งที่ปลาทั่วไปแล่ได้เพียง 4 ริ้ว หรือมากกว่าเป็นเท่าตัว
ชื่อเมืองแปดริ้วเรียกขานต่อกันหลายชั่วอายุคน และอีกที่มายังสอดคล้องกับตำนานพื้นบ้านพระรถเมรี ที่ว่ายักษ์ฆ่านางสิบสองแล้วเฉือนเนื้อออกเป็นแปดริ้ว ส่วนชื่อฉะเชิงเทราใช้อย่างเป็นทางการนับจากยกฐานะขึ้นเป็นจังหวัด เมื่อ 100 ปีที่แล้ว เชื่อว่าเพี้ยนมาจากคำเขมร "สตรึงเตรง" หรือ "ฉทรึงเทรา" แปลว่าคลองลึก
สายน้ำความยาวไม่น้อยกว่า 230 กิโลเมตร จากต้นน้ำที่เขาใหญ่สุดปลายน้ำที่อ่าวไทย หล่อเลี้ยงวิถีคนลุ่มน้ำบางปะกง ก่อเกิดอาชีพหลากหลาย ไม่เว้นของฝากติดมืออย่างขนมจาก ห่อด้วยใบจาก ขึ้นอยู่ริม 2 ฝากฝั่งแม่น้ำ
ไม้ชายเลนมีทั้งแสม โกงกาง ลำพู และป่าจาก สะท้อนความสมบูรณ์ของธรรมชาติแบบนิเวศ 3 น้ำ จืด เค็ม และน้ำกร่อย ทำให้มีพืชพรรณ สิ่งมีชีวิตหลากหลาย ได้รับอิทธิพลของตะกอนจากทะเลพัดพาปะปนกับตะกอนน้ำจืดยามน้ำขึ้น-น้ำลง เกิดความอุดมสมบูรณ์ทั้งผืนดินผืนน้ำ ทำสถิติปลูกมะม่วงได้มากที่สุดถึง 30,000 ไร่ ขึ้นชื่อเรื่องความหลากหลายของพันธุ์มะม่วงรสชาติดี มีเทศกาลมะม่วงประจำจังหวัดต่อเนื่องมาแล้วถึง 46 ครั้ง ส่วนหนึ่งเพราะมีสายน้ำบางปะกงนี้หล่อเลี้ยง
ฉะเชิงเทราเป็นดินแดนสำคัญชายฝั่งทะเลตะวันออก ปรากฏชื่อครั้งแรกในพระราชพงศาวดารสมัยกรุงศรีอยุธยา ที่ต่อมาเป็นเมืองหน้าด่านถึงต้นกรุงรัตนโกสินทร์ ได้ชื่อว่าเป็นดินแดนแห่งการเพาะปลูก เพราะมากกว่าร้อยละ 60 ของพื้นที่ทำเกษตรกรรม ปลูกข้าว ยางพารา มะพร้าวอ่อน และมะม่วงที่ล้วนพึ่งพิงสายน้ำเป็นหลัก
จากเขาใหญ่ ผ่านทุ่งข้าว สู่อ่าวไทย คือนิยามหนึ่งที่เอ่ยถึงแม่น้ำบางปะกง สายน้ำแห่งชีวิตคนฉะเชิงเทรา เชื่อว่าเป็นที่มาของนามเมือง ทุกวันนี้เกื้อหนุนคน 2 ฝั่งให้ได้ใช้ประโยชน์ไม่เคยขาด ในปัจจุบันยังมีความพยายามผลักดันให้ลุ่มน้ำบางปะกงเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำ เพื่อกำหนดรักษานิเวศแวดล้อม ภูมิทัศน์วัฒนธรรม ให้อยู่คู่กับเมืองไปอีกนานเท่านาน