สัญญาณเสียงยาวหมายถึงเรือจอดเทียบท่า หากเดินหน้า คือเสียงสั้นหลายๆครั้ง เสียงจากนกหวีดที่ถูกดัดแปลงให้ช่องลมเปิดกว้างกว่าปกติ เพื่อให้มีเสียงดังกว่าเครื่องยนต์ หนึ่งในสิ่งประดิษฐ์จากไอเดียของคนเรือด่วนเจ้าพระยา ซึ่ง "ยรรยง บุญหลง" สถาปนิกและนักวิจัยเรื่องระบบคมนาคม ร่วมกับทีมนักทำสารคดี "กลุ่มสายลม" ใช้เวลาร่วม 1 ปี บันทึกข้อมูล เพื่อถอดรหัสนวัตกรรมที่คิดค้นโดยคนในอาชีพขนส่งรับจ้าง รูปแบบและการจัดการเฉพาะตัว แม้ช่วยอำนวยความสะดวกคู่คนเมืองมานาน หากไม่เคยมีการศึกษาหรือบันทึกเพื่อต่อยอดพัฒนา เบื้องหลังฟันเฟืองเมืองใหญ่จึงถูกรวบรวมไว้ในหนังสือ "กรุงเทพฯ ขนส่งทำมือ Bangkok Handmade transit"
"อยากรู้ว่าระบบทำงานยังไง ระบบต่างๆที่เราไม่เคยเห็นว่าเขียนเป็นแบบแผน เช่น เรือแสนแสบ เรือด่วน เมื่อมีแบบแปลนก็หวังว่าในอนาคตอาจจะมีใครพัฒนาต่อ อาจจะใส่จีพีเอสเข้าไปในระบบรถเมล์ อย่างน้อยหนังสือเล่มนี้ก็ทำให้เป็นลายลักษณ์อักษร เดิมทีที่เป็นความรู้แบบปากต่อปาก" ยรรยง บุญหลง บรรณาธิการหนังสือกรุงเทพฯ ขนส่งทำมือ
การสำรวจการเดินทาง 10 รูปแบบในหนังสือกรุงเทพฯ ขนส่งทำมือ เช่น รถตุ๊กตุ๊ก ที่พบว่ายังเป็นตัวเลือกหลักของคนไทยในชั่วโมงเร่งด่วน เพราะความแม่นยำเส้นทางและการคาดคะเนสภาพจราจร เป็นความยืดหยุ่นของบริการขนส่งที่ไม่สังกัดรัฐ แม้จะเอื้อต่อการใช้ชีวิต หากยุคสมัยที่เปลี่ยนไป ก็ทำให้สถาปนิกนักวิจัยตั้งข้อสังเกตว่าควรมีการนำเทคโนโลยีมาใช้กับบริการสาธารณูปโภคพื้นฐาน ที่อาจช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ
"ปัจจุบันเริ่มมีพนักงานบริษัทรถเมล์ทำกลุ่มไลน์ว่าอยู่ตำแหน่งตรงไหน ผู้โดยสารจะได้ไม่ต้องนั่งรอคิวอยู่ที่ป้ายรถเมล์ มันเป็นมูลค่าเศรษฐกิจมหาศาลที่หากผู้โดยสารรู้ว่าอีก 5 นาที รถเมล์จะมา เขาอาจไปซื้อก๋วยเตี๋ยวได้สักชามนึง หรือถ้าอีกครึ่งชั่วโมงรถเมล์จะมา ก็อาจแวะไปช็อปก่อน ในขณะที่ถ้าเกิดไม่รู้เวลาล่วงหน้าก็ทำให้ต้องรออยู่อย่างนั้น การจับจ่ายในพื้นที่แห่งนั้นก็น้อยลงไป" ยรรยง ยกตัวอย่างให้เห็นมุมมองด้านมูลค่าทางเศรษฐกิจ
หนังสือขนส่งทำมือเกิดขึ้นจากการระดมทุน โดยเปิดให้ผู้สนับสนุนเสนอแนะเนื้อหา สำหรับกลุ่มผู้จัดทำในฐานะคนเมืองยังมองว่า แม้ปัจจุบันในโลกยุคไอที จะยังมีนวัตกรรมขนส่งรูปแบบใหม่ๆโดยเอกชนเกิดขึ้น หากแรงหนุนจากภาครัฐก็เป็นอีกตัวแปรสำคัญที่จะช่วยพัฒนาของระบบขนส่งให้รองรับกับมหานครมากยิ่งขึ้น