ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

จาก "ทองปาน" ถึง "คู่กรรม" คุยผู้กำกับชั้นครู "ยุทธนา มุกดาสนิท"

Logo Thai PBS
จาก "ทองปาน" ถึง "คู่กรรม" คุยผู้กำกับชั้นครู "ยุทธนา มุกดาสนิท"
ด้วยผลงานภาพยนตร์คุณภาพทรงอิทธิพลกับผู้ชมตลอด 40 ปี ทำให้ชื่อของ "ยุทธนา มุกดาสนิท" ได้รับยกย่องเป็นต้นแบบคนทำหนังไทย และยังเป็นผู้บุกเบิกวิธีทำหนังยุคใหม่ ซึ่งควรค่าแก่การศึกษา

"สำหรับผมจะคิดทำแต่ละเรื่องที่เป็นแรงจูงใจให้ทำหนัง อยู่ที่ประเด็นที่น่าสนใจอะไรบ้าง"

ปณิธานชัดเจนว่าทำหนังแต่ละเรื่องต้องเป็นประเด็นที่สังคมสนใจและสร้างความเปลี่ยนแปลงได้ นี่คือวิธีคิดในการทำหนังของผู้กำกับดัง "ยุทธนา มุกดาสนิท" ที่ถ่ายทอดให้คนรุ่นใหม่ในกิจกรรม "ชั้นครู" โดยหอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน) ผลงานแต่ละเรื่อง ทั้ง "น้ำพุ" ปี 2527 ที่สะท้อนปัญหาครอบครัวและยาเสพติด ปลุกกระแสให้โรงเรียนต้องพานักเรียนตีตั๋วเข้าชม หรือ "ทองปาน" ภาพยนตร์ต้องห้ามที่พูดถึงผลกระทบชาวนาจากการสร้างเขื่อนผามอง รวมถึง "เทพธิดาโรงงาน" ซึ่งมีส่วนในกระแสเรียกร้องสวัสดิการผู้ใช้แรงงานในปี 2525 สะท้อนให้เห็นอิทธิพลของสื่อภาพยนตร์ที่สร้างผลกระทบให้สังคมตามความตั้งใจของผู้กำกับ

"ทองปาน" (พ.ศ.2520) เรื่องราวเกี่ยวกับชาวนาอีสานที่ได้รับผลกระทบจากโครงการก่อสร้างเขื่อนผามอง จ.เลย เป็นภาพยนตร์ที่วิพากษ์นโยบายการพัฒนาของรัฐยุคหลัง 14 ตุลา

ผู้กำกับชั้นครู กล่าวถึงหลักการทำหนัง ซึ่งเป็นหนึ่งในสื่อสารมวลชนว่านอกจากต้องอิงกระแสตลาด ยังต้องมีความรับผิดชอบต่อสังคมในฐานะสื่อมวลชน "ทำหนังต้องดูกระแสตลาดว่าเป็นอย่างไร และกระแสสังคมเป็นอย่างไร มีอะไรที่น่าจะพูด หรือมีสิ่งที่เป็นแนวคิดใหม่ที่นำเสนอเพื่อการแก้ไข ภาพยนตร์เป็นสื่อสารประเภทหนึ่งในรูปแบบของความบันเทิง คนทำก็คือนักสื่อสารมวลชน และนักสื่อสารมวลชนต้องมีความรับผิดชอบต่อสังคม"

 

ยุทธนา ยังเป็นผู้บุกเบิกวงการหนังไทยด้วยเทคนิคการทำหนังที่ใช้ความปราณีต เช่น การวางมุมกล้องในภาพยนตร์คู่กรรม ปี 2538 โดยใช้ภาษาภาพแบบเดียวกับหนังฮอลลีวูด หรือการใช้วิธี Life Study ลงพื้นที่เพื่อหาข้อมูลนานแรมเดือน เพื่อพัฒนาบทภาพยนตร์ หวังให้ผลงานออกมาสมจริงที่สุด เช่น หลังคาแดง ปี 2530 ทำความเข้าใจผู้ป่วยในโรงพยาบาลศรีธัญญา

หนึ่งในผลงานสร้างชื่อของยุทธนาอย่าง "ผีเสื้อและดอกไม้" คว้ารางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยมจากการประกวดภาพยนตร์นานาชาติ รัฐฮาวาย สหรัฐอเมริกา ยังเป็นแรงบันดาลใจให้ผู้กำกับชื่อดัง ปรัชญา ปิ่นแก้ว เดินตามรอย เพราะชื่นชมในฝีมือการกำกับที่สามารถสะกดคนดูให้มีความรู้สึกร่วมไปกับภาพยนตร์

 

"ผมเป็นคนอีสาน แล้วตอนนั้นผมมีเพื่อนเป็นคนใต้ มันเห็นภาพชีวิตเขาเลย ผมมีความรู้สึกร่วมมากจนขนาดหนึ่งในนักแสดงเสียชีวิตผมรู้สึกผูกพันกับคนนั้นไปเลย พี่หง่าว (ยุทธนา) ถือว่าเป็นผู้กำกับที่มีค่าต่อวงการหนังไทยมากๆ เป็นบุคคลที่สมควรมองเป็นแบบอย่างของการทำงานที่ดี" ปรัชญา กล่าวถึงความทรงจำในภาพยนตร์ของยุทธนา

ในความเห็นต่อวงการภาพยนตร์ไทยยุคนี้ ยุทธนามองว่า เทรนด์มีความกว้างมากขึ้น ซึ่งอาจเป็นเพราะสื่อต่างๆ ทำให้รู้กว้าง แต่อาจจะไม่รู้ลึก รู้ลึกจึงเลยน้อย สไตล์หนัง 3-4 ปี เป็นอะไรที่เดิมๆ ย้อนยุค หนังผี หนังตลก หนังกะเทย


ยุทธนา เคยมีแนวคิดจะทำภาพยนตร์เรื่อง "2482 นักโทษประหาร" เพื่อสะท้อนปัญหาการเมืองในประเทศไทย หากด้วยอุปสรรคบางอย่างทำให้ต้องล้มเลิกไปในที่สุด หากบทบาทในฐานะคนต้นแบบวงการหนัง ยุทธนา ยังพยายามถ่ายทอดประสบการณ์กว่า 50 ปีให้แก่คนรุ่นหลัง อย่างน้อยก็เพื่อไห้แนวคิดภาพยนตร์สู่ความเปลี่ยนแปลงทางสังคมยังคงส่งต่อไปสู่คนรุ่นต่อไป

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง