การจับกุมครั้งนั้น ซึ่งมีแรงงานข้ามชาติถูกจับกุม 4 คน เป็นคนสัญชาติลาว เมียนมา และอินเดีย ทำให้เจ้าหน้าที่กระทรวงแรงงานได้รู้ว่ามีขบวนการรีดไถเงินจากแรงงานข้ามชาติที่ทำอาชีพค้าขาย ซึ่งเป็นอาชีพที่กฎหมายไม่อนุญาตให้ทำ
แรงงานข้ามชาติกลุ่มนี้ให้การเพิ่มเติมว่า มีกลุ่มคนที่อ้างว่าเป็นตำรวจสังกัดหนึ่ง เรียกเก็บเงินคนละ 1,300 บาทต่อเดือน บอกว่าเป็นค่าคุ้มครอง และให้แสดงสติกเกอร์หากถูกตรวจ สอดคล้องกับคำยืนยันของคนในย่านสะพานควายว่า มีคนแสวงหาผลประโยชน์จากแรงงานข้ามชาติ
พล.ต.ต.เจริญ ศรีศศลักษณ์ ผู้บังคับการตำรวจนครบาล 2 ยืนยันว่า กลุ่มบุคคลที่ถูกกล่าวหาว่าเรียกเก็บเงินค่าคุ้มครองนั้นไม่ใช่ตำรวจในสังกัด แต่เชื่อว่าเป็นผู้ที่อ้างหน่วยงานตำรวจเพื่อแสวงหาประโยชน์-รีดไถเงินจากแรงงานข้ามชาติ ขณะนี้อยู่ระหว่างขอภาพจากกล้องวงจรปิดรวมถึงสอบถามจากพยานบุคคล
นายอดิศร เกิดมงคล ผู้ประสานเครือข่ายองค์กรด้านประชากรข้ามชาติกล่าวว่า แรงงานข้ามชาติที่มาค้าขายในไทย เข้ามา 2 รูปแบบ คือ แบบถูกกฎหมาย แต่นายจ้างจ้างงานผิดประเภท จนต้องมาค้าขาย แล้วผันตัวเองเป็นเจ้าของกิจการ อีกรูปแบบคือ ถือวีซ่านักท่องเที่ยว เพื่อหาช่องทางค้าขาย
นายอารักษ์ พรหมณี อธิบดีกรมการจัดหางานกล่าวว่า กรมการจัดหางานตรวจสอบอย่างต่อเนื่อง แต่ก็มีข้อจำกัดจำนวนเจ้าหน้าที่ นอกจากนั้น มีข้อเสนอให้ออกใบอนุญาตค้าขาย เพื่อป้องกันแรงงานข้ามชาติแย่งอาชีพ และการเร่ขายของควรได้รับอนุญาต และมีรูปผู้ค้าติดรถอย่างชัดเจน แบบเดียวกับการจัดระเบียบรถจักรยานยนต์รับจ้าง