วันนี้ (8 มิ.ย. 2559) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายกฤษฎา บุญราช ปลัดกระทรวงมหาดไทย ลงนามในประกาศเรื่อง การขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษาโดยกลไกคณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัด (กศจ.) วานนี้ (7 มิ.ย. 2559) โดยมีคำสั่งถึงปลัดกระทรวงศึกษาธิการ เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน และผู้ว่าราชการทุกจังหวัด ให้ใช้กลไก กศจ.ผ่านการประชุมพิจารณากำหนดแนวทางในการขับเคลื่อนงานด้านการศึกษา เพื่อจัดการศึกษาของแต่ละจังหวัดให้ตอบสนองนโยบายของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และรัฐบาล ดังนี้
1.กำหนดยุทธศาสตร์และทิศทางการศึกษา หรือการปรับหลักสูตรการเรียนการสอนในสถานศึกษา ให้มีเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับค่านิยมหลักของคนไทย 12 ประการ เพื่อปลูกฝังค่านิยมอันดีงามแก่เด็กและเยาวชนอย่างต่อเนื่อง จนสามารถนำไปปฏิบัติจริงในชีวิตประจำวันเป็นพฤติกรรมที่ยั่งยืน โดยมีตัวอย่างกิจกรรม เช่น
1.1 การจัดค่ายคนรุ่นใหม่ใฝ่ค่านิยม/ค่ายคุณธรรม การเขียนบันทึกความดีหรือจัดกิจกรรมการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างเพื่อน การคัดเลือกและยกย่องนักเรียนผู้ประพฤติตนชอบด้วยความซื่อสัตย์ สุจริต หรือมีคุณสมบัติเด่นในค่านิยมหลัก 12 ประการ
1.2 การประกวดสื่อสร้างสรรค์ เช่น การจัดประกวดเรียงความ บทเพลง การเล่านิทาน ภาพยนตร์ชั้น การเรียนรู้ผ่านสถานที่จริงในท้องถิ่น เช่น สถานที่ประวัติศาสตร์ พิพิธภัณฑ์ โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ เป็นต้น
1.3 การจัดกิจกรรมลูกเสือ เนตรนารี ยุวกาชาด จิตอาสาหรือผู้บำเพ็ญประโยชน์อย่างต่อเนื่อง
1.4 การจัดการศึกษาแบบมีส่วนร่วมระหว่าง บ้าน วัด (ศาสนสถาน) โรงเรียน หรือ “บวร” โดยโรงเรียนสอนแนะนำ บ้านและวัด (ศาสนสถาน) เสริมขยายเน้นย้ำในเรื่องนั้น และการขยายผลการดำเนินงานตามแผนอุดมการณ์ “แผ่นดินธรรม แผ่นดินทอง” โดยร่วมมือกันทุกภาคส่วน เพื่อเป็นรากฐานการพัฒนาจิตใจ สังคม เศรษฐกิจ รวมทั้งการปกครองในระบอบประชาธิปไตย
2.ขยายผลการเรียนรู้ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง จากโครงการเกษตรเพื่ออาหารกลางวัน ในโรงเรียนถิ่นธุรกันดารตามพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี โดยเน้น “หลักเรียนให้รู้ ดูให้จำ ทำได้จริงๆ”
ทั้งนี้ ต้องออกแบบการประเมินผลตามหลักการดังกล่าวเป็นองค์ประกอบ แล้วคัดสรรโรงเรียนที่มีความพร้อมทั้งบุคลากรของโรงเรียน สภาพพื้นที่ที่จะทำการเกษตร การมีส่วนร่วม ตลอดจนผู้ปกครองหรือประชาชนในพื้นที่ ต้องมีความพร้อมในการให้การสนับสนุน สมัครใจเข้าร่วมโครงการเป็นโรงเรียนต้นแบบ
โดยให้กระทรวงศึกษาธิการ และสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน และทางจังหวัด แจ้งหน่วยงานในสังกัดในพื้นที่ให้สนับสนุน หรือให้คำแนะนำที่เกี่ยวข้องกับการจัดกิจกรรมของจังหวัด รวมถึงให้ทางจังหวัดรายงานกิจกรรมที่มีผลการดำเนินงานดีเด่น (Best Practice) เป็นรูปธรรมนำไปสู่ความยั่งยืน ให้กระทรวงมหาดไทยทราบ เพื่อเป็นตัวอย่างให้กับจังหวัดอื่นต่อไป