วันนี้ (10 มิ.ย. 2559) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า แม้ว่าจะเป็นความหวังดี แต่การลงแรงปลูกเพียงอย่างเดียวก็อาจไม่ได้ทำให้ป่าในจังหวัดน่านเพิ่มขึ้นอย่างถาวรได้ มีคำถามตามมาอีกว่าจะเอาพื้นที่ตรงไหนตั้งหลายร้อยไร่มาปลูก และจะมั่นใจได้อย่างไรว่าจะไม่กลายเป็นการซ้ำเติมอคติที่ชาวบ้านอาจจะถูกมองว่าเป็นผู้ทำลาย จนต้องให้คนอื่นเข้ามาแก้ปัญหา
เป็นที่มาของการที่ศิลปินแร็พเปอร์ โจอี้-บอย หรือนายอภิสิทธิ์ โอภาสเอี่ยมลิขิต ผู้เริ่มต้นโครงการปลูกเลย และนายสุหฤท สยามวาลา อดีตผู้สมัครชิงตำแหน่งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ผู้ร่วมโครงการปลูกเลย เดินเท้าลงพื้นที่เพื่อรับฟังข้อมูลและทำความเข้าใจปัญหาพื้นที่ป่าใน จ.น่าน ที่ซับซ้อน
พื้นที่ จ.น่าน เป็นภูเขาถึงร้อยละ 85 หรือประมาณ 6 ล้านกว่าไร่ ในส่วนพื้นที่สีเขียวเข้มคือเขตอุทยานแห่งชาติ ส่วนสีเขียวอ่อนคือ เขตป่าสงวนฯ และสีเหลืองที่เห็นเป็นส่วนน้อยมากคือที่ราบและอยู่นอกพื้นที่อนุรักษ์ จะเห็นว่ามีเพียง 1.07 ล้านไร่ หรือ ร้อยละ 15 ของพื้นที่ทั้งหมดเท่านั้น
ถ้านำพื้นที่ 1.07 ล้านไร่นี้ มาเฉลี่ยกับประชากรของ จ.น่านที่มี 4 แสนกว่าคน ก็จะได้เพียงคนละ 100 ตารางวาเศษ ซึ่งแน่นอนว่าไม่พอให้ทำกิน ทำให้มีเกษตรกร 2 ใน 3 ของจังหวัด ต้องเข้าไปใช้พื้นที่ป่าอนุรักษ์ทำการเกษตร
ภายใต้ข้อจำกัดของพื้นที่ ยังมีอีกปัญหาใหญ่คือวิถีการปลูกพืชเชิงเดี่ยวที่มีมากว่า 20 ปี ทำให้ปัจจุบันชาวบ้านหันไปปลูกข้าวโพดมากที่สุด 9.5 แสนไร่ ปลูกยางพารา 4 แสนไร่ และปาล์มน้ำมันอีกกว่า 6 พันไร่ ซึ่งการทำเกษตรแบบนี้ สร้างหนี้สินให้กับคน จ.น่าน เฉลี่ยครอบครัวละ 4 แสนบาท
ถึงเวลานี้ มีความพยายามจากหลายหน่วยงานที่จะลดพื้นที่ปลูกข้าวโพดเพื่อคืนผืนป่า ทั้งที่ภาระหนี้สินของชาวบ้านก็ยังเป็นอุปสรรคสำคัญไม่น้อย อย่างไรก็ดี ในอีกด้านมีชาวบ้านหลายกลุ่มรวมตัวกันอย่างเข้มแข็ง จนสามารถปรับเปลี่ยนวิถีการปลูกพืชได้สำเร็จแล้ว
ท่ามกลางปัญหาที่ซับซ้อน ประชาชนกลุ่มใหญ่ที่มีประสบการณ์ ดูแลพื้นที่มากว่า 30 ปี อย่าง มูลนิธิฮักเมืองน่าน ได้ถอดบทเรียนความสำเร็จของการดูแลผืนป่าไว้
โดยประการแรกคือ การสร้างความเข้าใจเรื่องการรักษาผืนป่าระหว่างชาวบ้านกับหน่วยงานรัฐซึ่งถือว่าสำคัญที่สุด เพราะจะทำให้ชาวบ้านรู้สึกได้ถึงความเป็นเจ้าของ
จากนั้นต้องทำแผนที่ใช้ประโยชน์ป่าร่วมกันเพื่อให้ง่ายต่อการจัดการ ในการแก้ไขปัญหายังจำเป็นต้องใช้องค์ความรู้จากคนหลากหลายอาชีพ เพื่อรักษาต้นน้ำและจัดสรรพื้นที่ใช้ประโยชน์ และเมื่อจำเป็นต้องใช้งบประมาณ อาจต้องใช้วิธีหาทุนจากภาคเอกชน และจำเป็นต้องร่วมมือกันเรื่องการตลาดของสินค้าเกษตรด้วย
สุดท้ายคือต้องพัฒนาหรือสร้างอาชีพใหม่ๆ ที่เหมาะสมกับพื้นที่อยู่เสมอ เช่น การปลูกพืชที่หลากหลาย และเสริมสร้างการท่องเที่ยวของชุมชน เป็นต้น
เมื่อดูจากรหัสความสำเร็จทั้งหมด จะเห็นว่าการเพิ่มพื้นที่ป่าอาจไม่ใช่แค่การปลูกต้นไม้เพียงอย่างเดียว แต่ต้องใช้หลายปัจจัยประกอบกันและต้องเป็นแนวทางที่ทำให้ปากท้องของเกษตรกรดีขึ้น
คนในพื้นที่ จ.น่าน ยังสะท้อนว่า มีหลายช่องทางที่คนเมืองสามารถสนับสนุนการเพิ่มพื้นที่ป่าที่นอกเหนือจากการปลูกต้นไม้ เช่น การสนับสนุนตลาดสินค้าการเกษตรของคนน่าน อุดหนุนการท่องเที่ยวของชุมชน หรือการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้อื่นนอกจากด้านการเกษตรที่คนน่านถนัดอยู่แล้ว เพื่อเพิ่มรายได้และยกระดับคุณภาพชีวิตให้กับเกษตรกรเมืองน่าน
ท่ามกลางเสียงปรบมือชื่นชมโครงการปลูกเลย ชาวบ้านและคนทำงานอนุรักษ์ป่ากลับมีความกังวลเรื่องการยึดคืนพื้นที่ ตามนโยบายทวงคืนผืนป่าของ คสช. ผ่านการทำกิจกรรมนี้ แต่ทางผู้ว่าราชการจังหวัดน่านและเจ้าหน้าที่กรมป่าไม้ยืนยันว่า การยึดคืนพื้นที่จะยังคงทำไปตามหลักเกณฑ์ปกติ และจะไม่ใช้โอกาสนี้ ในการเร่งยึดคืนพื้นที่แน่นอน