วันนี้ (10 มิ.ย. 2559) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากการเก็บข้อมูลของสมาพันธ์สมาคมภาพยนตร์แห่งชาติ พบว่าช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา มีผู้ละเมิดลิขสิทธิ์ออนไลน์กว่า 800 ราย ผ่านการไลฟ์จากโรงหนัง และคอมพิวเตอร์ รวมถึงโพสต์หนังลงในเฟซบุ๊ก ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเยาวชนแทบทั้งสิ้น มีการประเมินว่าฟีเจอร์ใหม่ที่เข้าถึงง่ายเพียงปลายนิ้วนี้ ได้สร้างความเสียหายให้อุตสาหกรรมภาพยนตร์เกือบ 100 ล้านบาทต่อเดือน
เกียรติกมล เอี่ยมพึ่งพร ผู้บริหาร บริษัท ไฟว์สตาร์โปรดักชั่น จำกัด บอกว่า ก่อนหน้านี้มันเป็นบริการฝากไฟล์ แต่ตอนนี้กลายเป็นการไลฟ์กันแล้ว และใช้ช่องทางนี้ในการละเมิด เพราะเสร็จแล้วก็สามารถลบทิ้งได้เลย และส่วนใหญ่คนที่ทำเรื่องนี้เป็นเด็ก เป็นการเรียนรู้ที่ไม่ถูกต้อง ซึ่งส่งผลเสียหายในแง่เศรษฐกิจทั้งที่จริงการดูภาพยนตร์ คนดูต้องถูกเก็บเงิน และคนในทุกวันนี้ก็ไม่เก็บเงินดูหนังกันแล้ว
ปัญหาที่เกิดขึ้น ยังส่งผลถึงธุรกิจโฮม เอนเตอร์เทนเมนต์ ทั้งดีวีดีและร้านเช่าหนัง รวมถึงบริการชมภาพยนตร์ออนไลน์วิดีโอที่กำลังโตขึ้น ต้องหยุดชะงักมีรายได้ลดลง ขณะที่ ผู้สร้างหลายรายตัดสินใจลดทุนสร้างภาพยนตร์เหลือเพียง 1 ใน 3 เพราะไม่มั่นใจว่าจะสามารถเก็บรายจนคืนทุน
ปรัชญา ปิ่นแก้ว ผู้กำกับและโปรดิวเซอร์ภาพยนตร์ ยอมรับว่า ตอนนี้คนทำหนังอยู่ได้ยากขึ้น เพราะตามความก้าวหน้าของเทคโนโลยีไม่ทัน อย่างผลงานเรื่องล่าสุด "ลูกทุ่งซิกเนเจอร์" ที่เพิ่งวางจำหน่ายแผ่นดีวีดี ก็โดนพิษละเมิดลิขสิทธิ์ออนไลน์จนยอดขายน้อยกว่าที่คาด
“ตอนนี้หนังไทยตลาดด้านนี้มันยังไม่ชัด ผู้สร้างเราก็มีออนไลน์กันบ้างแล้วแต่มันยังจับตลาดไม่ชัด แต่ที่มันชัดกว่ากลับเป็นละเมิดลิขสิทธิ์ ซึ่งก็ต้องรอมาตรการป้องปรามตรงนี้ให้เด็ดขาดก่อน แล้วการขายด้านนี้ถึงจะชัด” ปรัชญา ระบุ
สิ่งที่คนวงการหนังแก้ปัญหาได้เบื้องต้นตอนนี้ คือการรีพอร์ตเพจละเมิดลิขสิทธิ์เท่านั้น ซึ่งขณะนี้สมาพันธ์สมาคมภาพยนตร์แห่งชาติได้จับมือกับรัฐบาลเพื่อแก้ปัญหานี้อย่างจริงจัง โดยมองว่าประเทศเป็นต้นแบบคือเกาหลีใต้และมาเลเซีย ที่เพิ่มโทษการละเมิดลิขสิทธิ์จนทำให้การละเมิดลดลงอย่างรวดเร็ว