วันนี้ (13 มิ.ย.2559) นายจักรกฤศฏิ์ พาราพันธกุล อธิบดีกรมธนารักษ์ เปิดเผยว่า เตรียมเปลี่ยนแนวคิดการจัดเก็บค่าเช่าที่ราชพัสดุในเชิงพาณิชย์ จากเดิมกำหนดจัดเก็บตามโซนพื้นที่ มาเป็นผลตอบแทนจากการหารายได้ โดยการจัดเก็บค่าเช่าแบบใหม่นี้จะมีผลกับผู้เช่า โดยเฉพาะผู้เช่ารายใหญ่ เช่น
-บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท.ที่ปัจจุบันจ่ายค่าเช่าปีละ 1,595 ล้านบาท, ปตท. 561 ล้านบาท, ไทยออยล์ 200 ล้านบาท
-กสท โทรคมนาคม ปัจจุบันจ่ายค่าเช่าปีละ 169 ล้านบาท
-บริษัทท่าเรือเจ้าพระยา ปัจจุบันจ่ายค่าเช่าปีละ 126 ล้านบาท
-ไปรษณีย์ไทย ปัจจุบันจ่ายค่าเช่าปีละ 122 ล้านบาท
-บริษัท เอ็มซีซี ปัจจุบันจ่ายค่าเช่าปีละ 122 ล้านบาท
โดยรายแรกที่มีแผนเจรจาปรับค่าเช่า คือ ทอท. ซึ่งจะต้องเจรจาให้ได้ข้อสรุปก่อนสัญญาจะหมดลงในเดือนกันยายน 2559 และว่าจ้างจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยศึกษาเบื้องต้น
ทั้งนี้ ที่ราชพัสดุสำหรับท่าอากาศยานทั่วประเทศแบ่งออกเป็น 3 ส่วน คือ
1) กลุ่มท่าอากาศยาน ซึ่งดำเนินกิจการขาดทุน เดิมไม่เสียค่าเช่า ปรับเป็นเสียค่าเช่าร้อยละ 2 ของรายได้
2) ท่าอากาศยานดอนเมือง จากเดิมเสียค่าเช่าร้อยละ 2 เพิ่มเป็นร้อยละ 5
3) ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ จากเดิมเสียค่าเช่าร้อยละ 5 เพิ่มเป็นร้อยละ 7
นายจักรกฤศฏิ์กล่าวว่า หากได้ข้อสรุปเตรียมเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาในขั้นต่อไป
ส่วนโรงกลั่นไทยออยล์ จ.ระยอง พื้นที่ 1,400 ไร่ จะครบกำหนดสัญญาในอีก 5 ปีข้างหน้า แต่ทางไทยออยล์ต้องการลงทุนต่อด้วยเงินลงทุน 200,000 ล้านบาท จึงเตรียมเสนอ ครม.พิจารณา
นอกจากนี้ ยังได้หารือร่วมกับกรมเจ้าท่า พัฒนาท่าเรือ 19 แห่ง ซึ่งเป็นท่าเรือขึ้นลงของชาวบ้าน เพื่อเตรียมเปิดให้เอกชนมาพัฒนาบริหารจัดการเหมือนกับท่ามหาราช ท่าพระจันทร์ โดยเปิดประมูลให้เอกชนเข้าบริหาร แบ่งรายได้ร้อยละ 70 นำส่งรายได้เข้ารัฐ อีกร้อยละ 30 ให้ส่วนราชการเจ้าของโครงการ