นายสมภพ สุจริต ที่ปรึกษาสำนักบริหารจัดการน้ำและอุทกวิทยา กรมชลประทาน กล่าวว่า จากปัญหาภัยแล้วในปีนี้ ทำให้หลายเขื่อนมีปริมาณน้ำลดลงอย่างหนักและเกิดแรงตึงผิวหน้าดินจนสันเขื่อนหลายแห่งแห้งแตกระแหง ขณะที่เขื่อนบางแห่งต้องใช้น้ำสำรองก้นเขื่อน (Dead Storage) ที่อาจมีผลกระทบต่อความมั่นคงของเขื่อน เช่น เมื่อน้ำลดลงจะเกิดการหดตัวที่ผิวหน้าและเกิดการแตกร้าว หรือการเลื่อนตัวได้
"ในกรณีแดดเผา เขื่อนมีรอยแตกร้าวมาก รวมทั้งเรื่องของการก่อสร้าง การบำรุงรักษา แต่ถ้าเจอรอยแตกแล้วซ่อมก่อน ก่อนที่น้ำใหม่จะมาก็ปลอดภัย" นายสมภพกล่าว
นายทองเปลว กองจันทร์ รองอธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า หลายเขื่อนมีรอยแตกจากภัยแล้ง เช่น เขื่อนลำแชะ อ.ครบุรี จ.นครราชสีมา ที่ผิวการจราจรบริเวณสันเขื่อนแตกร้าว กรมชลประทานจึงเข้าไปแก้ปัญหาอย่างเร่งด่วน
ขณะที่ผู้เชี่ยวชาญด้านวิศวกรรมแหล่งน้ำ กล่าวว่า การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ทำให้มีฝนตกน้อยเกินไปหรือมากเกินไปสลับกันอย่างต่อเนื่อง ทำให้ทั่วโลกต้องหันมาดูแลความปลอดภัยของเขื่อนมากขึ้น เพราะอาจเกิดความเสียหายได้