เขื่อนภูมิพลเป็น 1 ใน 4 เขื่อนหลักในลุ่มน้ำเจ้าพระยา ขณะนี้อ่างเก็บน้ำเขื่อนภูมิพลเหลือน้ำใช้การได้เพียงร้อยละ 2 ของความจุอ่าง และยังสามารถรับน้ำได้อีกกว่า 9,000 ล้านลูกบาศก์เมตร ถ้าฝนยังไม่ตกลงมามากพอ ปลายปีนี้อาจจะเป็นอีกปีที่ประเทศไทยจะต้องเผชิญกับปัญหาภัยแล้งรุนแรงอย่างต่อเนื่อง
นับตั้งแต่เข้าสู่ฤดูฝน น้ำที่ไหลเข้าเขื่อนภูมิพลมีมากสุดแค่ 11ล้านลูกบาศ์กเมตรต่อวันเท่านั้น และหากจะเพิ่มปริมาณน้ำในเขื่อนภูมิพลให้กลับมาอยู่ในระดับที่เพียงพอต่อการใช้งาน ตั้งแต่เดือนมิถุนายนนี้เป็นต้นไป จะต้องมีน้ำไหลเข้าเขื่อนมากถึง 15-25 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อวัน
นายวรพจน์ วรพงษ์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการเขื่อนภูมิพลกล่าวว่าเขื่อนภูมิพลและเขื่อนสิริกิติ์ จ.อุตรดิตถ์ จะต้องมีปริมาณน้ำใช้การได้รวมกันกว่า 1 หมื่นล้านลูกบาศก์เมตรจึงจะเพียงพอสำหรับการใช้น้ำทุกประเภท
"พูดง่ายๆ ว่า ถ้าเขื่อนภูมิพลและเขื่อนสิริกิติ์ได้น้ำแห่งละ 5,500 ล้าน ลบ.ม. สถานการณ์น้ำของประเทศก็จะมีความมั่นคง คือ ทำนาได้ตามปกติ แต่ถ้าสถานการณ์เป็นแบบนี้ ก็ยังคาดเดาไม่ได้ว่าจะมีฝนเข้ามาอีกมากน้อยแค่ไหน อ่างเก็บน้ำเขื่อนภูมิพลยังรับได้อีก 9,000 กว่าล้าน ลบ.ม. เราอยากได้น้ำเยอะๆ เพื่อให้เกษตกรจะได้อุ่นใจในการประกอบอาชีพในปีหน้า" นายวรพจน์กล่าว
น้ำที่ยังคงไหลเข้าเขื่อนไม่มาก ทำให้กรมชลประทานต้องลดการระบายน้ำเขื่อนภูมิพลลง และเพิ่มการระบายน้ำจากเขื่อนสิริกิติ์ และเขื่อนแควน้อยบำรุงแดนที่มีน้ำไหลเข้ามากกว่า เพื่อให้เพียงพอต่อความต้องการใช้น้ำลุ่มน้ำเจ้าพระยาที่มีความต้องการใช้นำวันละ 18 ล้าน ลบ.ม.
"เรามีแผนที่จะระบายเขื่อนภูมิพลประมาณ 3 ล้าน ลบ.ม.ต่อวัน ของเขื่อนสิริกิติ์ 10.5 ล้าน ลบ.ม.ก็ยังระบายอยู่ในเกณฑ์นี้ คิดว่าการระบายน้ำของเขื่อนภูมิพลจะไม่น้อยไปกว่านี้แล้ว เพราะว่าความต้องการใช้น้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคด้านท้ายน้ำ โดยเฉพาะก่อนไปเชื่อมแม่น้ำวังก็มีเกณฑ์ขั้นต่ำอยู่ประมาณนี้" ผู้ช่วย ผอ.เขื่อนภูมิพลระบุ
แม้กรมอุตุนิยมวิทยาจะคาดว่า ปลายฤดูฝนนี้ ทั่วทุกภาคของไทยจะมีฝนตกชุก แต่การประเมินน้ำต้นทุนเขื่อนภูมิพลปีนี้ กลับคาดว่าจะมีน้ำไหลเข้าเขื่อนเพียง 3,000 - 4,0000 ล้าน ลบ.ม.เท่านั้น ทั้งที่ยังเหลือพื้นที่รับน้ำอีกกว่า 9,000 ล้าน ลบ.ม.