ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

อย.ยืนยันไม่เคยรับรองอาหารเสริม "หมามุ่ย" ผู้ผลิต-นำเข้า อ้างมี อย.ผิดกฎหมาย

สังคม
20 มิ.ย. 59
10:30
919
Logo Thai PBS
อย.ยืนยันไม่เคยรับรองอาหารเสริม "หมามุ่ย" ผู้ผลิต-นำเข้า อ้างมี อย.ผิดกฎหมาย
แพทย์ยังไม่สรุปเหตุหญิงอายุ 21 ปี เสียชีวิต เพราะแพ้หมามุ่ยหรือไม่ หลังรับประทานผลิตภัณฑ์อาหารเสริมที่อ้างว่ามีส่วนผสมของหมามุ่ย รอผลชันสูตรอย่างน้อย 1 สัปดาห์ ด้าน อย.ยืนยันไม่เคยรับรองอาหารเสริม "หมามุ่ย" ผู้ผลิต-นำเข้า อ้างมี อย.ผิดกฎหมาย

วันนี้ ( 20 มิ.ย.2559 ) จากกรณีการเสียชีวิตของ น.ส.ศตพร พันทอง หรือ น้องมิลค์ อายุ 21 ปี ที่เกิดอาการแพ้อย่างรุนแรง หลังรับประทานสมุนไพรชนิดแคปซูล ที่ถูกระบุว่า มีส่วนผสมของสารสกัดจาก "หมามุ่ย" อินเดียแบบแคปซูล ก่อนที่จะเสียชีวิตในโรงพยาบาลตรัง เมื่อวันที่ 11 มิ.ย. ที่ผ่านมา

นพ.ไพศาล ดั่นคุ้ม รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กล่าวว่า จากการตรวจสอบสารสำคัญในผลิตภัณฑ์ โดย อย.ได้รับตัวอย่างผลิตภัณฑ์มาเพียง 2 แคปซูล ซึ่งถือว่าน้อยมาก ไม่เพียงพอในการตรวจสอบหาสารสำคัญได้ ต้องหาผลิตภัณฑ์มาเพิ่ม แต่จากการตรวจสอบตามที่ผู้แทนจำหน่ายอ้างว่ามีการผลิตจำหน่ายที่จังหวัดตรัง ยังไม่พบข้อมูลหรือผลิตภัณฑ์แต่อย่างใด ส่วนผู้แทนจำหน่ายขณะนี้ไม่สามารถติดต่อได้ เบื้องต้น อย.อยู่ระหว่างการค้นหาผลิตภัณฑ์ที่มีลักษณะคล้ายกันในทั่วประเทศ เพื่อตรวจสอบต่อไป

นพ.ไพศาล ยังกล่าวอีกว่า อย.ไม่อนุญาตให้ขึ้นทะเบียนหมามุ่ยเป็นอาหารเสริมไม่ว่าจะเป็นสายพันธุ์ใด เนื่องจากตัวหมามุ่ยมีสรรพคุณทางยาอยู่ หากมีผลิตภัณฑ์ที่มีหมามุ่ยเป็นส่วนประกอบ จะถือว่าเป็นอาหารไม่บริสุทธิ์ ผู้ผลิต นำเข้าจะมีโทษปรับ 20,000 บาท จำคุก 2 ปี หรือทั้งจำทั้งปรับ หากทำฉลากปลอมโดยที่ไม่มีส่วนผสมที่กล่าวอ้างอยู่จริง ก็จะถือเป็นอาหารปลอมมีโทษทั้งจำคุก 6-10 ปี ปรับ 5,000-100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

นพ.วิฑูรย์ เหลืองดิลก นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดตรัง กล่าวว่า พบมีโปร์ชัวร์ที่อวดอ้างสรรพคุณเกินจริง เข้าข่ายความผิดเรื่องการโฆษณา ที่ตัวผลิตภัณฑ์ไม่ได้ระบุถึงหมามุ่ยแต่อย่างใด แต่ตัวแทนจำหน่ายที่อบรมเป็นผู้ให้ข้อมูล เบื้องตรวจสอบส่วนประกอบที่อยู่ในใบโฆษณาผลิตภัณฑ์ไม่พบว่ามีการพูดถึงหมามุ่ย แต่พบว่ามีสารตัวหนึ่งที่คล้ายกับสารที่มีอยู่ในหมามุ่ย คือ สารแอลโดปา (L-Dopa)

ส่วนสาเหตุการเสียชีวิต ของ น.ส.ศตพร พันทอง หรือ น้องมิลค์ ผู้เชี่ยวชาญเชื่อว่าเกิดจากการแพ้อย่างรุนแรง แต่ไม่ยืนยันว่าเกิดจากหมามุ่ยหรือไม่ เพราะอาจมีการแพ้สารตัวอื่นที่อยู่ในผลิตภัณฑ์ดังกล่าว ส่วนการตรวจหาสาเหตุการเสียชีวิต โรงพยาบาลรามาธิบดี ได้เก็บตัวอย่างเลือดและชิ้นเนื้อส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการแล้ว โดยคาดว่าน่าจะใช้เวลาประมาณ 1 สัปดาห์จึงจะทราบผล และหากเจอสารชนิดใดก็ต้องมีการตรวจเพื่อยืนยันผลเพิ่มเติม

ภญ.สุภาภรณ์ ปิติพร หัวหน้ากลุ่มงานเภสัชกรรม โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร จังหวัดปราจีนบุรี กล่าวว่า กรณีดังกล่าวไม่อยากให้สังคมมองเพียงว่าการเสียชีวิตเกิดจากอะไร แต่อยากให้มีระบบในการป้องกันไม่ให้เกิดขึ้นอีก ปัญหาของคนไทยคือหลงเชื่อข้อมูลสุขภาพง่ายเกินไป ไม่มีการตรวจสอบโดยเฉพาะในสื่อออนไลน์

อย่างไรก็ตาม จึงขอเสนอให้หน่วยงานที่รับผิดชอบออกกฎหมายควบคุม โดยเฉพาะการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ที่ระบุสรรพคุณทางยา การรักษาหรือการป้องกันโรค ผู้ที่ออกมาเผยสรรพคุณเหล่านี้ต้องมีใบรับรองถูกต้อง แม้จะเป็นเภสัชกร หรือวิชาชีพด้านสาธารณสุขที่เกี่ยวข้อง เพราะอย่างน้อยก็เป็นเครื่องการันตีช่วยผู้บริโภคได้ระดับหนึ่ง

ขณะที่ วันนี้ 20 มิ.ย. ญาติได้ร่วมกันประกอบพิธีฌาปนกิจให้ นางสาวศตพร พันทอง ที่วัดนาเมืองเพชร ต.นาโต๊ะหมิง อ.เมือง จ.ตรัง

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง