วันนี้ (20 มิ.ย. 2559) สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า การรณรงค์ของกลุ่มที่ต้องการให้สหราชอาณาจักรหรืออังกฤษถอนตัวออกสหภาพยุโรป (อียู) และกลุ่มที่ต้องการให้อยู่กับอียูต่อไปกลับมาคึกคัก ผ่านการชูประเด็นเรื่องการอพยพเข้าเมืองและเศรษฐกิจ กลับมาคึกคักอีกครั้ง หลังเว้นไปเป็นระยะเวลา 3 วัน จากเหตุการณ์สังหาร นางโจ ค็อกซ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดทางภาคเหนือของอังกฤษ ซึ่งเธอเป็นผู้สนับสนุนให้อังกฤษอยู่เป็นสมาชิกอียูต่อไป
ทั้งนี้ การทำประชามติสอบถามประชาชน ว่าต้องการให้สหราชอาณาจักรอยู่เป็นสมาชิกอียูต่อไปหรือไม่ จะมีขึ้นในวันพฤหัสบดีที่ 23 มิ.ย.นี้
ด้าน นายเดวิด คาเมรอน นายกรัฐมนตรีของอังกฤษ ที่ต้องการให้อังกฤษเป็นสมาชิกอียูต่อไปออกมาเตือนประชาชนว่า ถ้าออกมาแล้วก็เหมือนกับการโดดลงจากเครื่องบิน ไม่สามารถกลับเข้าเครื่องได้อีก
คำกล่าวเตือนของผู้นำอังกฤษ เกิดขึ้นในขณะที่หนังสือพิมพ์ ดิ อินดิเพนเดนท์ เผยผลการสำรวจผ่านการตอบแบบสอบถาม 2,046 คน ทางออนไลน์ ระหว่างวันที่ 15-16 มิ.ย.ที่ผ่านมา ว่าประชาชนรู้สึกอย่างไรหากผลประชามติให้ออกจากอียู โดยปรากฏว่าร้อยละ 44 ของผู้ตอบแบบสอบถาม บอกว่ารู้สึกยินดีหากออกจากอียู ขณะที่ผู้ที่ยินดีให้อังกฤษอยู่ในอียูต่อไปมีเพียงร้อยละ 28 เท่านั้น
การสำรวจของหนังสือพิมพ์ชื่อดังในอังกฤษครั้งนี้ยังตั้งคำถามด้วยว่า หากผลประชามติออกมาว่าให้อยู่ในอียูต่อไปจะรู้สึกอย่างไร ซึ่งร้อยละ 44 บอกว่า รู้สึกผิดหวัง ขณะที่ร้อยละ 33 ผิดหวังหากอังกฤษออกจากอียู
อย่างไรก็ดี ที่ผ่านมายังไม่เคยมีประเทศใดถอนตัวออกจากการเป็นสมาชิกอียูมาก่อน หากผลการทำประชามติออกมาว่าอังกฤษต้องการแยกตัว กระบวนการที่เกิดขึ้นจะเป็นไปดังนี้
นับตั้งแต่ปี 2552 สนธิสัญญาของยุโรปได้กำหนดว่า ชาติสมาชิกมีสิทธิ์ในการตัดสินใจเพียงฝ่ายเดียว เพื่อออกจากสหภาพยุโรปหรืออียูได้ และหากประเทศใดตัดสินใจเช่นนั้น ในระยะเวลา 2 ปี ประเทศนั้นจะต้องหารือกับอียู เพื่อกำหนดรูปแบบความสัมพันธ์ใหม่ ซึ่งการเจรจาจะมีความซับซ้อนอย่างมาก เนื่องจากจะต้องเจรจาถึงการแยกออกจากอียูในส่วนต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นด้านเศรษฐกิจ การคลัง ความมั่นคง สังคม สิ่งแวดล้อม และวัฒนธรรม
เป้าหมายของการเจรจาคือการทำข้อตกลงร่วมกัน ซึ่งประเทศที่ต้องการออกจากอียู ยังสามารถเข้าร่วมในบางส่วนของอียูได้เพื่อรักษาผลประโยชน์ในส่วนนั้นไว้ ยกตัวอย่างเช่น เขตเศรษฐกิจยุโรปที่มีประเทศไอซ์แลนด์ นอร์เวย์ และลิกเตนสไตน์รวมอยู่ด้วย ประเทศที่เข้าร่วมสามารถย้าย พลเมือง สินค้า และบริการ ภายในตลาดของยุโรปได้อย่างเสรี แม้ว่าบางประเทศจะมีไม่ค่อยมีอิทธิพล แต่ภายใต้กฎระเบียบและนโยบายที่ทำร่วมกัน ทุกประเทศจะต้องเคารพกฎดังกล่าว
และหากว่าไม่สามารถบรรลุข้อตกลงร่วมกันได้ หลังระยะเวลา 2 ปีสิ้นสุดลง ประเทศที่แยกตัวออกจากอียู จะมีสถานภาพเป็นประเทศที่ 3 เช่นเดียวประเทศสหรัฐฯ หรือจีน ซึ่งสิทธิพิเศษต่างๆ ที่เคยได้ในการเข้าร่วมกับตลาดของอียูจะสิ้นสุดลง
รวมถึงสิทธิในด้านอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นการเกษียณอายุ สิทธิในการพักอาศัย การจ้างงาน และสิทธิในการลงมติเรื่องต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับอียู และในทางกลับกันภาษีในการทำการค้าจะกลับมามีผลบังคับใช้
นอกจากนี้ยังมีผลกระทบอื่นๆ ที่ตามมา ในแง่ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศที่ถอนตัวออกจากอียูกับประเทศอื่นๆ ทั่วโลก ยกตัวอย่างเช่น กรณีที่อียูใช้มาตรการคว่ำบาตรกับประเทศที่ 3 หรือทำการเจรจาในนามของประเทศสมาชิก ในด้านการค้า การบิน หรือสิ่งแวดล้อม สิ่งเหล่านี้จะเกิดการเปลี่ยนแปลง
ทั้งนี้ ที่ผ่านมายังไม่เคยมีประเทศใดถอนตัวจากอียูมาก่อน มีแต่การรับสมาชิกเพิ่มเข้ามา