วันนี้ (20 มิ.ย.2559) นายจตุพร พรหมพันธุ์ ประธานกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) พร้อมด้วยนายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ และนางธิดา ถาวรเศรษฐ แกนนำ นปช. เดินทางเข้าหารือกับเจ้าหน้าที่องค์การสหประชาติ (ยูเอ็น) หลังจากได้ยื่นหนังสือถึงนายลอเรนต์ มีเลียน ผู้ประสานงานสำนักงานข้าหลวงใหญ่ด้านสิทธิมนุษยชนภาคพื้นเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กรณีคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ไม่อนุญาตให้เปิดศูนย์ปราบโกงประชามติ เมื่อวันที่ 17 มิ.ย.ที่ผ่านมา และเจ้าหน้าที่องค์การสหประชาชาตินัดหารืออีกครั้งในวันนี้
นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ กล่าวถึงแนวทางของ นปช. ในการจัดตั้งศูนย์ปราบโกงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ ว่า ต้องการให้ประชาชนมีส่วนร่วมติดตามตรวจสอบและให้การทำประชามติเกิดความบริสุทธิ์ยุติธรรม นำไปสู่แนวทางประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ ซึ่งการที่ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ไม่ให้จัดตั้งและให้ นปช. ประสานกับคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ตามแนวทางการให้ประชาชนมีส่วนร่วมนั้น ขอให้พิจารณาด้วยว่าการทำหน้าที่ของ กกต. มีข้อจำกัดอย่างไรบ้าง จึงเรียกร้องให้ทางกลุ่ม นปช. ได้ดำเนินการติดตามตรวจสอบการทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญต่อไป เพื่อแสดงให้เห็นว่ารัฐบาลมีความจริงใจและให้การตรวจสอบเป็นไปตามธรรมชาติ โดยไม่ถูกจำกัดจนเกินไป โดย นปช. พร้อมดำเนินการตามที่เจ้าหน้าที่กำหนดและไม่มีการขึ้นป้ายผ้าแล้ว
อย่างไรก็ตาม กลุ่ม นปช. จะใช้ช่องทางสื่อสังคมออนไลน์ในการรายงานสถานการณ์และตรวจสอบตามสิทธิขั้นพื้นฐาน ซึ่งที่ผ่านมา นปช. ได้ใช้ช่องทางดังกล่าวในการติดตามและแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสาร
ขณะที่ พล.อ.ประวิตร กล่าว่า กระบวนการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่วันที่ 7 ส.ค.นี้ เป็นเรื่องภายในของไทย ไม่จำเป็นต้องให้องค์กรระหว่างประเทศเข้ามาร่วมสังเกตการณ์ เพราะเจ้าหน้าที่รัฐดำเนินการตามกฎหมายและไม่มีการละเมิดสิทธิมนุษยชนของบุคคล หรือฝ่ายใด พร้อมยืนยันห้ามเปิดศูนย์ปราบโกงประชามติ หาก นปช. จะเปลี่ยนรูปแบบการเคลื่อนไหวผ่านทางสื่อสังคมออนไลน์ ต้องระมัดระวังในเรื่องการบิดเบือด เพราะมีกฎหมายในการดูแลควบคุม