วันนี้ (21 มิ.ย. 2559) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า แม้เศรษฐกิจของประเทศไทยในไตรมาสแรกจะขยายตัวสูงร้อยละ 3.2 ซึ่งเป็นอัตราการเติบโตสูงสุดในรอบ 3 ปี แต่การขยายตัวดังกล่าวไม่ส่งผลถึงประชาชนฐานราก ขณะที่ ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจธุรกิจและเศรษฐกิจฐานราก ธนาคารออมสิน เปิดเผยผลสำรวจพบประชาชนฐานรากยังขาดความเชื่อมั่นต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ
จากปัญหาภัยแล้งและราคาสินค้าเกษตรตกต่ำกระทบกำลังซื้อประชาชน โดยเฉพาะกลุ่มที่มีรายได้ต่ำกว่า 15,000 บาท สะท้อนผ่านดัชนีความเชื่อมั่นฐานรากเดือนพ.ค. 2559 อยู่ที่ระดับ 43.6 ซึ่งลดลงจากเดือน เม.ย. 2559 ที่ระดับ 44.9 รวมทั้ง ดัชนีความเชื่อมั่นต่อภาวะเศรษฐกิจการออม โอกาสหางานและรายได้ ล้วนปรับลดลง สะท้อนว่า ประชาชนระดับฐานรากยังคงกังวลเกี่ยวกับการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจในอนาคต
นอกจากนี้ ผลสำรวจความเห็นประชาชนเกี่ยวกับปัญหารายได้และหนี้สินในปัจจุบัน พบว่า ส่วนใหญ่ยังประสบปัญหารายได้ไม่พอกับรายจ่าย จนต้องกู้ยืมเงินนอกระบบเพื่อใช้จ่ายอุปโภคบริโภคและชำระหนี้เดิมเป็นส่วนใหญ่ รองลงมาคือปัญหารายได้ไม่แน่นอนจากราคาผลผลิตเกษตร และเงินที่หามาได้ส่วนใหญ่ต้องนำมาใช้หนี้ แต่ไม่ประสบปัญหาถูกเจ้าหนี้คุกคาม รวมทั้งปัญหาดอกเบี้ยนอกระบบสูงๆ เหมือนในอดีต
เพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว เร็ว ๆ นี้ รัฐบาลเตรียมออกมาตรการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบเป็นแพคเกจใหญ่ ครอบคลุมถึงเจ้าหนี้และลูกหนี้ในทุกอาชีพ
นายชาติชาย พยุหนาวีชัย ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน กล่าวว่า การแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบที่ผ่านมาไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร เพราะหนี้นอกระบบเข้าถึงง่าย ธนาคารจึงเตรียมออกผลิตภัณฑ์บัตรกดเงินสด สำหรับผู้มีรายได้ต่ำกว่า 15,000 บาท พร้อมเสนอคณะรัฐมนตรี เห็นชอบวงเงินชดเชยดอกเบี้ย สำหรับดำเนินโครงการแก้ปัญหาหนี้นอกระบบประมาณ 3,000-5,000 พันล้านบาท หลังกำหนดอัตราดอกเบี้ยโครงการต่ำพิเศษนาน 1 ปี
นอกจากนี้ จะผ่อนปรนเงื่อนไขการพิจารณาสินเชื่อ โดยไม่ใช้หลักทรัพย์หรือบุคคลค้ำประกัน ให้กับประชาชนระดับฐานราก 3 กลุ่ม ได้แก่ ผู้ค้าหาบเร่แผงลอย คนขี่จักรยานยนต์รับจ้าง และแม่บ้านรับงานอิสระ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนและสร้างความเชื่อมั่นต่อภาวะเศรษฐกิจ
ด้านนายลักษณ์ วจนานวัช ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) กล่าวว่า ทางธนาคารเตรียมสินเชื่อสำหรับการลงทุนใหม่วงเงิน 1.2 แสนล้านบาท พร้อมปรับลดดอกเบี้ยลงจากร้อยละ 7 เหลือร้อยละ 4 รวมทั้งการแจกเงินให้เปล่าสำหรับจัดซื้อปัจจัยการผลิตสำหรับเกษตรกรรายย่อย ซึ่งอยู่ระหว่างกำหนดเงื่อนไข เพราะพบว่าหนี้นอกระบบส่วนใหญ่กว่าร้อยละ 70 กระจุกตัวอยู่กับกลุ่มเกษตรกร โดยจะเสนอโครงการดังกล่าวให้ ครม.พิจารณา ทั้งนี้ คาดว่าจะมีผู้ได้ประโยชน์จากโครงการนี้ประมาณ 2 ล้านครัวเรือน