วันนี้ (22 มิ.ย.2559) พล.อ.ธีรชัย นาควานิช ผู้บัญชาการทหารบก มอบฝ่ายกฎหมายรวบรวมข้อมูล การจัดซื้อเครื่องตรวจจับสารเสพติด และวัตถุระเบิด GT 200 เพื่อพิจารณาเรียกร้องค่าเสียหาย หลังศาลอังกฤษยึดทรัพย์สินมูลค่าราว 395 ล้านบาทของผู้ผลิต และนำมาเยียวยาให้กับประเทศที่จัดซื้อเครื่องมือนี้มาใช้
พล.อ.ธีรชัย ระบุว่า ได้มอบหมายฝ่ายกฎหมายของกองทัพบก รวบรวมข้อมูลการจัดซื้อเพื่อพิจารณาดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมายแล้ว พร้อมยืนยันการจัดซื้อที่ผ่านมา เป็นไปอย่างถูกต้องตามระเบียบ
ข้อมูลจากสำนักงานตรวจเงินแผ่นดินพบว่า เฉพาะหน่วยงานรัฐที่จัดซื้อเครื่อง GT 200 ตั้งแต่ปีงบประมาณ 2548 - 2552 มีทั้งหมด 6 แห่ง คือ กองทัพบก กองทัพเรือ กองทัพอากาศ กรมราชองครักษ์ สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ และตำรวจภูธรจังหวัดชัยนาท รวม 836 เครื่อง งบประมาณกว่า 759 ล้านบาท โดยในจำนวนนี้ กองทัพบกจัดซื้อมากที่สุด วงเงินกว่า 659 ล้านบาท โดยจัดซื้อผ่านตัวแทนบริษัทเอกชนในไทย
ด้าน พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ระบุว่า หลังจากได้รับมอบหมายจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ให้ตรวจสอบการจัดซื้อเครื่องตรวจสอบวัตถุระเบิด GT200 ว่า ตนเองยังไม่ได้รับรายงานเรื่องนี้อย่างเป็นทางการ คาดว่าอาจจะส่งผ่านเลขานุการศูนย์อำนวยการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ (ศอตช.) ซึ่งจะต้องดูในรายละเอียดก่อน
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ระบุว่า ส่วนตัวมองว่าเรื่องนี้แบ่งเป็น 2 ประเด็น คือ กรณีไทยตกเป็นผู้เสียหายจากการถูกหลอกให้ซื้อเครื่อง GT 200 จากบริษัทโกลบอล เทคนิคอล ประเทศอังกฤษ หลังศาลเมืองโอลด์เบลีย์ เมืองเค้น ของอังกฤษ มีคำพิพากษาให้จำคุกเจ้าของบริษัทนี้ ในข้อหาฉ้อโกง การจัดจำหน่ายเครื่อง GT 200 ให้กับหลายประเทศ ซึ่งไทยเอกก็ตกเป็นหนึ่งในผู้เสียหายด้วยและกรณีการจัดซื้อเข้ามาใช้ในประเทศไทยว่ามีกระบวนการอย่างไร ซึ่งผู้จัดซื้อจัดจ้างอาจจะถูกหลอกเช่นกัน ที่ผ่านมาคนส่วนใหญ่สนใจแต่เรื่องการจัดซื้อจัดจ้าง ซึ่งตัวเองมองว่าควรจะแสดงตัวเพื่อให้นานาชาติรับรู้ว่าไทยคือหนึ่งในผู้เสียหายเพื่อรักษาสิทธิ์ ในการเรียกร้องเยียวยาความเสียหายที่เกิดขึ้น