วันนี้ (23 มิ.ย.2559) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า แรงงานเมียนมาใน จ.สมุทรสาคร กลุ่มนี้เข้าขอความช่วยเหลือและรับคำปรึกษากับคณะกรรมการสมานฉันท์คุ้มครองแรงงานข้ามชาติชาวเมียนมาในประเทศไทย เนื่องจากถูกเลิกจ้างมานานเกือบ 1 เดือน และแม้ว่าจะไปสมัครงานในหลายที่ แต่ถูกปฏิเสธ เพราะใบอนุญาตทำงานชั่วคราวที่พวกเขาถืออยู่ ระบุชื่อนายจ้าง และประเภทงานไว้แล้ว การเปลี่ยนงานใหม่จึงเป็นเรื่องยาก ขณะที่บางคนสะท้อนปัญหาข้อจำกัดการเดินทางที่ไม่สามารถไปทำธุระ หรือไปพบญาตินอกพื้นที่ ซึ่งกำหนดไว้ในใบอนุญาตทำงานชั่วคราวได้
การเร่งพิสูจน์สัญชาติออกหนังสือเดินทางหรือพาสปอร์ต เพื่อให้เข้ามาทำงานอย่างถูกกฎหมาย ซึ่งจะได้รับการดูแลและคุ้มครองในการทำงาน และมีเสรีภาพในการเดินทาง จึงเป็นข้อเรียกร้องสำคัญที่แรงงานเมียนมา จะเสนอต่อนางออง ซาน ซู จี ที่ปรึกษาแห่งรัฐแห่งสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา ซึ่งมีกำหนดเข้าพบแรงงานเมียนมาที่ จ.สมุทรสาคร ในวันนี้
แม้ทางการไทยจะผ่อนปรนให้แรงงานเมียนมาที่จดทะเบียนแรงงานข้ามชาติ สามารถเดินทางกลับไปพิสูจน์สัญชาติที่ประเทศต้นทาง แต่เนื่องจากต้องใช้เวลาในการรวบรวมเอกสาร ทำให้นายจ้างบางส่วนไม่ส่งเสริม หรือหันไปพึ่งพากลุ่มนายหน้า แต่มีค่าใช้จ่ายสูง ทำให้แรงงานบางส่วนไม่เข้าสู่ขั้นตอนการพิสูจน์สัญชาติ ซึ่งพบว่ามีแรงงานเมียนมาผ่านการพิสูจน์สัญชาติไม่ถึง 900,000 คนจากที่ได้รับอนุญาตทำงานกว่า 1,400,000 คน
ล่าสุด นายอารักษ์ พรหมณี อธิบดีกรมการจัดหางาน ระบุว่ารัฐบาลไทยและเมียนมาเตรียมลงนามความร่วมมือจัดทำหนังสือแสดงตัวบุคคล (ซีไอ) ให้กับแรงงานเมียนมาที่มีใบอนุญาตทำงานชั่วคราว เพื่ออำนวยความสะดวกในการตรวจสัญชาติ พร้อมจัดตั้งคณะทำงานร่วมตรวจสัญชาติไทย-เมียนมา ขณะที่เครือข่ายแรงงานข้ามชาติเห็นว่าหากทางการเมียนมาจัดตั้งศูนย์เพื่อดำเนินการพิสูจน์สัญชาติในประเทศไทย จะทำให้ดำเนินการรวดเร็วขึ้น
สำหรับข้อเสนออื่นที่แรงงานเมียนมาเตรียมยื่นเสนอต่อนางออง ซาน ซู จี คือขอให้เข้าถึงสิทธิประกันสังคม เพิ่มสิทธิ สวัสดิการ ให้ครอบคลุมกลุ่มลูกจ้างที่ทำงานบ้าน ร้านอาหาร และกรรมกรก่อสร้าง เพิ่มความเข้มงวดและปราบปรามกลุ่มนายหน้าที่เรียกผลประโยชน์จากกลุ่มแรงงานที่นำเข้าตามข้อตกลงไทย-เมียนมา และสนับสนุนการศึกษาผู้ติดตามแรงงาน