วันนี้ (24 มิ.ย. 2559) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ศูนย์วิชาการเฝ้าระวังและพัฒนาระบบยา (กพย.) ร่วมกับเครือข่ายนักวิชาการจากคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล และมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เปิดเผยข้อมูลเตือนภัยตำรับยาต้านแบคทีเรียที่ควรถอดถอนออกจากประเทศไทย วานนี้ (23 มิ.ย.)
ผศ.ภญ.นิยดา เกียรติยิ่งอังศุลี ผู้จัดการ กพย. เปิดเผยว่า จากการรวบรวมบัญชียายอดแย่ที่มีส่วนผสมของยาต้านแบคทีเรีย พบมียามากกว่า 40 ตำรับที่มีทะเบียนตำรับยาที่ไม่เหมาะสม เช่น ยาอมที่ไม่ควรมีส่วนผสมของยาต้านเชื้อแบคทีเรีย เพราะร้อยละ 80 ของอาการเจ็บคอ ไม่ได้เกิดจากเชื้อดังกล่าว และอาจทำให้เกิดเชื้อดื้อยาในลำไส้ เช่นเดียวกับยาแก้ท้องเสียที่ร้อยละ 80 เกิดจากเชื้อไวรัส การเติมยาต้านแบคทีเรียจึงไม่มีความจำเป็น
นอกจากนี้ ยังพบในสูตรตำรับยาผสมชนิดฉีด ยาเหน็บทวารหนัก ยาเหน็บช่องคลอด และยาต้านแบคทีเรียชนิดใช้ภายนอกด้วย
“เครือข่ายนักวิชาการจะยื่นหนังสือถึง รมว.สธ. เพื่อให้สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาหรือ อย. ถอนบัญชียาเหล่านี้ออกจากประเทศ โดยผู้บริโภคสามารถตรวจสอบบัญชียายอดแย่ ที่มีส่วนผสมของยาต้านเชื้อแบคเรียได้ที่ www.thaidrugwatch.org หรือ www.thaihealth.or.th" ผู้จัดการ กพย. ระบุ