วันนี้ ( 24 มิ.ย.2559 ) หลังผลการลงประชามติอย่างเป็นทางการว่าสหราชอาณาจักรเลือกแยกตัวออก อียู หรือ สหภาพยุโรป นักวิเคราะห์ต่างมองว่าความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจไทย จะเริ่มเห็นผลในช่วงครึ่งปีหลัง แต่ในระยะสั้น ตลาดเงินตลาดทุนจะมีความผันผวนสูงมาก
นายเชาว์ เก่งชน กรรมการผู้จัดการ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุว่า ความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างไทยกับอังกฤษโดยตรงอยู่ในระดับต่ำ เช่น ปริมาณการค้าไม่ถึงร้อยละ 2 ของการค้ารวมไทย นักท่องเที่ยวอังกฤษมีเพียงร้อยละ 3 ของนักท่องเที่ยวที่มาไทย แต่ด้วยขนาดเศรษฐกิจของอังกฤษที่ใหญ่เป็นอันดับต้นๆ ของอียู จึงมีความเป็นไปได้สูงที่อียูจะได้รับผลกระทบ และส่งผ่านมายังไทย
นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย กล่าวว่า การลงประชามติครั้งนี้ เป็นที่ทราบล่วงหน้ามาแล้วหลายเดือน แบงก์ชาติ และสถาบันการเงิน ต่างเตรียมตัวและปิดความเสี่ยงฐานะเงินตราต่างประเทศล่วงหน้าแล้วแต่ในระยะข้างหน้าอาจทำให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกเปราะบางมากขึ้น อีกทั้งเผชิญความไม่แน่นอนหลายด้าน โดยเฉพาะผลที่จะเกิดขึ้นกับเศรษฐกิจอังกฤษและโครงสร้างของเศรษฐกิจยุโรปโดยรวม จึงขอให้ทุกฝ่ายให้ความสำคัญในการบริหารความเสี่ยงอย่างต่อเนื่อง
นายจาตุรงค์ จันทรังษ์ ผู้ช่วยผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ยืนยันว่าแบงก์ชาติเตรียมมาตรการไว้รองรับแล้ว ด้านกรรมการและผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ยืนยันว่าระบบเซอร์กิตเบรกเกอร์ของตลาดหลักทรัพย์ไทยสามารถดูแลความผันผวนของตลาดทุน
นายรพี สุจริตกุล เลขาธิการ ก.ล.ต. ประเมินผลกระทบที่จะเกิดจากนักลงทุนไทยไปลงทุนในยุโรป คาดว่าจะส่งผลโดยตรงกับการลงทุนของกองทุนรวมไทยในอังกฤษและสหภาพยุโรปที่มีร้อยละ 1.6 ของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุนรวมทั้งหมดเท่านั้น โดยเป็นกองทุนตราสารหนี้และตราสารทุน ที่ลงทุนในเงินฝากและตราสารหนี้คุณภาพดีร้อยละ 47
ไม่เพียงด้านตลาดทุนที่จะได้รับผลกระทบ นายสมเกียรติ ตรีรัตนพันธ์ ผู้อำนวยการสำนักนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า ระบุว่า น่าเป็นห่วงผลกระทบในส่วนของค่าเงิน เพราะการอังกฤษออกจากอียูจะส่งผลให้เงินปอนด์ดิ่งลง เป็นผลทำให้สินค้าไทยมีราคาแพงขึ้นซึ่งอาจจะกระทบต่อยอดส่งออกในช่วงอีกสองถึงสามเดือนข้างหน้า แต่ที่น่าห่วงมากกว่าคือค่าเงินปอนด์ที่ลดลงจะฉุดให้ค่าเงินยูโรดิ่งตามลงมาหรือไม่ ซึ่งยังคาดคะเนได้ยาก
อย่างไรก็ตามเรื่องของการค้ายังมีช่วงเวลาเปลี่ยนผ่านอีกสองถึงสามปีหากอังกฤษต้องการจะเปลี่ยนแปลงกฎระเบียบทางการค้าต่างๆ และขณะนี้ไทยก็ได้กระจายตลาดส่งออกไทยยังประเทศต่างๆมากแล้วไม่ได้พึ่งพาประเทศใดประเทศหนึ่งเป็นหลักเหมือนในอดีตโดยการส่งออกของไทยไปอียู คิดเป็นสัดส่วนอยู่ที่ร้อยละ 9 ส่วนการส่งออกไปอังกฤษมีสัดส่วนเพียงร้อยละ 1-2 เท่านั้น