ผู้สื่อข่าวรายงานว่าคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 33/2559 ลงนามโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และประกาศในเว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 24 มิ.ย.2559 ระบุว่าหัวหน้า คสช. ใช้อำนาจตามมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญชั่วคราว ให้ข้าราชการที่ถูกร้องเรียนหรือถูกกล่าวหาว่าปล่อยปละละเลยให้มีการกระทําความผิเกิดขึ้นในพื้นที่ของตนหรือมีการทุจริต หรือประพฤติมิชอบ หรือดําเนินการหรือไม่ดําเนินการตามอํานาจหน้าที่จนเกิดความเสียหายแก่ทางราชการและมีมูลอันสมควรตรวจสอบ ระงับการปฏิบัติราชการโดยไม่ขาดจากตําแหน่งเดิมและให้ไปปฏิบัติราชการในหน่วยงานอื่นในสังกัดเดิมเป็นการชั่วคราวตามนัยแห่งคําสั่ง
หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 16/2558 เรื่อง มาตรการแก้ปัญหาเจ้าหน้าที่ของรัฐที่อยู่ระหว่างการถูกตรวจสอบและการกําหนดกรอบอัตรากําลังชั่วคราว
ทั้งนี้ มีข้าราชการและตำรวจที่ถูกโยกย้ายตามคำสั่งนี้ทั้งหมด 23 คน โดย 4 คน ประกอบด้วย
-ข้าราชการในจังหวัดสมุทรสาคร 4 คน ได้แก่ นายแมนรัตน์ รัตนสุคนธ์ ผู้ว่าราชการจังหวัด, นายนันทวุธ อุตสาหตัน รองอัยการจังหวัดสมุทรสาคร, นายทรงวุฒิ โชติมา อุตสาหกรรมจังหวัด และน.ส.รัตนา พละชัย แรงงานจังหวัดสมุทรสาคร
-อัยการ 2 คน ได้แก่ นายวาทิต สุวรรณยิ่ง อัยการจังหวัดนาทวี และ นายมาโนช รัมมะสินธุ์ รองอัยการจังหวัดนาทวี
-ข้าราชการตำรวจ 17 คน มีตั้งแต่ยศพันตำรวจตรี ถึง พลตำรวจตรี
ทั้งนี้เป็นที่น่าสังเกตว่าการโยกย้ายผู้ว่าราชการ แรงงานจังหวัด อุตสาหกรรมจังหวัดและ รองอัยการจังหวัดสมุทรสาครนี้ เกิดขึ้นเพียงไม่กี่ชั่วโมงหลังจากที่ พล.อ.ประยุทธ์ พบ กับนางออง ซาน ซู จี ที่ปรึกษาแห่งรัฐเมียนมา ซึ่งได้มีการหารือเรื่องปัญหาแรงงานเมียนมาในประเทศไทย และหลังจากที่นางซู จี พบปะตัวแทนแรงงานเมียนมาใน จ.สมุทรสาคร เมื่อวันที่ 23 มิ.ย.2559