เปิดขุมทรัพย์อุทยานฯ อันดามัน ตอนที่ 1: กรมอุทยานฯ เก็บเบี้ยพันล้านจาก 'ผืนป่า-ท้องทะเล'
“การท่องเที่ยว” นับเป็นธุรกิจหลักอย่างหนึ่งที่สร้างรายได้ให้กับประเทศไทย สถานที่ท่องเที่ยวในบ้านเรา ที่โปรโมทโดยการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย และหน่วยงานต่างๆ ของกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เกือบ 100 เปอร์เซนต์ เป็นพื้นที่ “อุทยานแห่งชาติ” ตั้งแต่ภาคเหนือ ตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง ตะวันออก ตะวันตก และภาคใต้ ที่มีทั้ง ยอดเขา น้ำตก แม่น้ำ อ่างเก็บน้ำ ทะเล ชายหาด ป่าชายเลน พื้นที่ชุ่มน้ำ บึงเกาะแก่งต่างๆ รวมถึงปะการังใต้ท้องทะเล
จากเว็บไซต์ของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ระบุว่า ประเทศไทยมีอุทยานแห่งชาติทั้งหมด 148 แห่ง ประกอบด้วย อุทยานแห่งชาติในพื้นที่ภาคเหนือ จำนวน 59 แห่ง อุทยานแห่งชาติภาคกลาง-ตะวันออก-ตะวันตก จำนวน 25 แห่ง อุทยานแห่งชาติภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 24 แห่ง และอุทยานแห่งชาติภาคใต้ 40 แห่ง จาก “รายงานการแสดงการรับ/นำส่งเงินรายได้เพื่อบำรุงรักษาอุทยานแห่งชาติ” www.dnp.go.th/nprd/develop/data/stat56/M_47-56.pdf ระบุตัวเลขรายได้ย้อนหลัง 10 ปี ระหว่างปี 2547-2556 ดังนี้
สำหรับรายได้ดังกล่าว จัดเก็บตาม “ระเบียบกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช ว่าด้วยการเก็บ การรักษา การใช้จ่ายเงินรายได้เพื่อบำรุงรักษาอุทยานแห่งชาติ พ.ศ.2546” ลงนามโดย นายสมชัย เพียรสถาพร อธิบดีกรมอุทยานฯ เมื่อวันที่ 18 มี.ค.2546 ระบุว่า “เงินรายได้” หมายความว่า เงินที่กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช หรือสำนักอุทยานแห่งชาติ หรือสำนักบริหารจัดการในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ และอุทยานแห่งชาติ ได้รับเป็นกรรมสิทธิ์นอกเหนือจากเงินงบประมาณรายจ่าย ดังต่อไปนี้
1.ค่าบริการให้ความสะดวกในอุทยานแห่งชาติ
2.ค่าธรรมเนียมสำหรับการอนุญาตให้เข้าดำเนินกิจการในอุทยานแห่งชาติ
3.ค่าตอบแทนสำหรับการอนุญาตพักอาศัยในอุทยานแห่งชาติ
4.เงินที่มีผู้บริจาคเพื่อบำรุงรักษาอุทยานแห่งชาติ
5.เงินค่าปรับที่พนักงานเจ้าหน้าที่เปรียบเทียบตามมาตรา 28 แห่งพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ.2504
6.เงินรายได้อื่นๆ ที่เกิดจากการดำเนินงานอุทยานแห่งชาติ
นอกเหนือไปจาก “งบประมาณประจำปี” ที่ได้รับมาจากงบประมาณแผ่นดิน ซึ่งเขตอนุรักษ์แต่ละแห่งได้รับจัดสรรงบประมาณจากหน่วยงานต้นสังกัดเป็นประจำทุกปี แบ่งเป็น 2 ประเภท คือ งบกิจกรรมงานอุทยานแห่งชาติ มีวัตถุประสงค์เพื่อป้องกันและปราบปรามการลักลอบทำลายทรัพยากรธรรมชาติ ส่งเสริมสนับสนุนการศึกษาวิจัย และส่งเสริมสนับสนุนนันทนาการและสื่อความหมาย และงบกิจกรรมท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ มีวัตถุประสงค์เพื่ออนุรักษ์ฟื้นฟูและพัฒนาแหล่งท่องเที่ยว อันเป็นการสร้างรายได้แก่ชุมชน พร้อมทั้งเสริมสร้างจิตสำนึก และความตระหนักถึงความสำคัญ ในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ
อย่างไรก็ตามในระเบียบกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช ว่าด้วยการเก็บ การรักษา การใช้จ่ายเงินรายได้เพื่อบำรุงรักษาอุทยานแห่งชาติ พ.ศ.2546 ระบุด้วยว่า การรับเงินตามระเบียบนี้ ให้มีการออกใบเสร็จรับเงินทุกครั้ง เว้นแต่การรับเงินค่าบริการให้ความสะดวกต่าง ๆ ในอุทยานแห่งชาติให้ใช้บัตรค่าบริการ ซึ่ง “บัตรค่าบริการ” มักใช้ในกรณีของการจ่ายค่าธรรมเนียมเข้าอุทยานแห่งชาติเป็นส่วนใหญ่ และมีกำหนดอัตราที่แตกต่างกันของแต่ละอุทยานแห่งชาติ แบ่งเป็นคนไทยและชาวต่างประเทศ เช่น ตามประกาศการกำหนดอัตราค่าบริการ สำหรับบุคคลที่เข้าไปในเขตอุทยานฯ จำนวน 31 แห่ง ที่นายนิพนธ์ โชติบาล อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช ลงนามเมื่อวันที่ 26 ส.ค.2557 และให้มีผลบังคับตั้งแต่วันที่ 1 ก.พ. 2558 ที่ผ่านมา
โดยขั้นตอนการจำหน่ายบัตรตั้งแต่การรับบัตรจากกรมอุทยานแห่งชาติฯ ไปจนถึงมือนักท่องเที่ยว และอุทยานแห่งชาตินั้นๆ ส่งเงินกลับมายังกรมอุทยานฯ นั้น ในแต่ละปีอุทยานแห่งชาติแต่ละแห่งจะเสนอขอรับบัตรค่าธรรมเนียมมายังสำนักอุทยานแห่งชาติ จากนั้นจะนำเข้าพิจารณาจากคณะกรรมการว่า ควรให้อุทยานแห่งไหนบ้าง จำนวนเท่าใด ก่อนที่จะส่งให้อุทยานแห่งชาตินั้นๆ หลังจากนั้นอุทยานแห่งชาติแต่ละแห่งจะนำไปใช้ ก่อนจะส่งรายได้คืนให้สำนักอุทยานแห่งชาติ ให้ตรงกับจำนวนของบัตรค่าธรรมเนียมที่จำหน่ายออกไป ตามระเบียบกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช ว่าด้วยการเก็บ การรักษา การใช้จ่ายเงินรายได้เพื่อบำรุงรักษาอุทยานแห่งชาติ พ.ศ.2546
ในส่วนของรายได้ ประชาชนส่วนใหญ่มักคิดว่าเงินรายได้จากการจัดเก็บค่าบริการ ค่าธรรมเนียมต่างๆ จากอุทยานแห่งชาติ จะเป็นเงินรายได้ที่ต้องนำเข้ารัฐ เป็นงบประมาณแผ่นดิน เหมือนกับรายได้อื่นๆ ที่เกิดจากการได้รับประโยชน์จากทรัพยากรของรัฐหรือของแผ่นดิน แต่กลับไม่เป็นเช่นนั้น เมื่อตรวจสอบพบว่า รายได้จากส่วนนี้มีการจัดสรรเป็นส่วนต่างๆ ดังนี้
ประเภท ก งบประมาณสำหรับองค์การบริหารส่วนท้องถิ่น จำนวนร้อยละ 5 ของเงินรายได้
ประเภท ข งบประมาณบริหารจัดการอุทยานแห่งชาติ จำนวนร้อยละ 15 ของเงินรายได้ สำหรับใช้ในการบริหารจัดการอุทยานแห่งชาติ เช่น ค่าสาธารณูปโภค อุปกรณ์สำนักงาน ค่าซ่อมแซมครุภัณฑ์ ค่าเบี้ยเลี้ยงเจ้าหน้าที่
ประเภท ค งบประมาณบำรุงรักษาอุทยานแห่งชาติ จำนวนร้อยละ 50 ของเงินรายได้ งบประมาณส่วนนี้อุทยานแห่งชาติจะต้องทำแผนงาน เพื่อยื่นขอรับการพิจารณาจากคณะกรรมการพิจารณาจัดสรรเงินรายได้ของสำนักอุทยานแห่งชาติ
ประเภท ง งบประมาณพัฒนาบุคลากร จำนวนร้อยละ 10 ของเงินรายได้ สำหรับใช้สนับสนุนบุคลากรในการศึกษาต่อ จัดอบรมเจ้าหน้า อบรมศึกษาดูงานนอกสถานที่
ประเภท จ งบประมาณสำรอง จำนวนร้อยละ 20 ของเงินรายได้ เพื่อสำรองจ่ายในกรณีที่งบประมาณในส่วนอื่นๆ ไม่เพียงพอ
ขณะที่มีการตั้งข้อสังเกตว่า แต่ละปีมีนักท่องเที่ยวชาวต่างประเทศ เดินทางมาเที่ยวประเทศไทยมากมาย โดยเฉพาะในแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ ประเทศไทยควรมีรายได้มหาศาลจากค่าธรรมเนียมนี้ และนำมาใช้ในการอนุรักษ์หรือฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติ ที่ได้รับผลกระทบจากนักท่องเที่ยว นำมาปรับปรุงอาคารสถานที่ซึ่งได้รับความเสียหายจากการท่องเที่ยว หรือจัดทำอุปกรณ์สื่อความหมาย อุปกรณ์ให้ความปลอดภัยกับนักท่องเที่ยว ที่มีสภาพดีกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ฯลฯ เพราะโดยเฉลี่ยค่าธรรมเนียมที่ได้รับจากนักท่องเที่ยวชาวต่างประเทศจะอยู่ที่รายละ 200-500 บาท และคนไทยก็มีไม่น้อยทีเดียว