ร้านจำหน่ายยาแห่งหนึ่งใน อ.จันดี จ.นครศรีธรรมราช ที่ทีมข่าวไทยพีบีเอสได้เบาะแสจากหน่วยงานด้านปกครองและสาธารณสุข พบว่ามีพฤติกรรมต้องสงสัยขายยาน้ำแก้ไอต้องห้ามตามประกาศยาอันตรายที่เภสัชกรต้องทำบัญชีการขาย และที่สำคัญ ยาน้ำมีคุณสมบัติแก้ไอตามเบาะแสถูกซื้อขายเพื่อไปเป็นส่วนผสมสารเสพติดที่ผู้เสพส่วนใหญ่ใช้เรียกชื่อว่า 4 คูณ 100
เพื่อให้ได้ภาพเป็นหลักฐานและเบาะแส ทีมงานจึงเฝ้าสังเกตพฤติกรรมจากภายนอกร้านขายยาแห่งนี้หลายวันติดต่อกัน ซึ่งหากสังเกตด้วยสายตาจากภายนอกร้าน แต่ละวันร้านขายยาแห่งนี้อาจดูไม่ต่างไปจากร้ายขายยาทั่วไป มีคนเดินเข้าและออกวันละหลายคน แต่ที่ผิดสังเกตคือลูกค้าร้านขายยาส่วนหนึ่งเป็นวัยรุ่น บางคนเดินทางมาพร้อมกระเป๋าสะพาย ขณะที่บางคนแม้ไม่มีกระเป๋า เพื่อบรรจุของปกปิดสายตา แต่หากพอสังเกตได้ว่าซื้อยาในลักษณะคล้ายปกปิดสิ่งของบางอย่างออกจากร้าน
ทีมงานเลือกติดตามลูกค้าคนหนึ่งที่ออกจากร้ายขายยา เพื่อสอบถามว่ายาที่ซื้อเป็นตัวยาและชนิดใดบ้าง และได้คำตอบตามเบาะแส ที่ได้รับ โดยวัยรุ่นคนนี้ยอมรับว่าใช้ยาแก้ไอเพื่อไปเป็นส่วนผสมของสารเสพติด
ยาน้ำแก้ไอชนิดนี้ เคยถูกตรวจพบตามสถานที่ต่างๆและเป็นตราฉลากยี่ห้อเดียวกับที่พบในอีกหลายพื้นที่ของภาคใต้ แม้ยาแก้ไอจะเป็นส่วนผสมที่สำคัญของยาเสพติดชนิด 4 คูณ 100 แต่การควบคุมการจำหน่ายยังมีช่องว่าง ทำให้ร้านขายยาบางแห่งฉวยโอกาสค้ายาแก้ไอ ซึ่งในวงการจะเรียกว่าเป็นการซื้อขายแบบบิลขาว
เพื่อให้แน่ใจว่าส่วนผสมของยาแก้ไออยู่ในบัญชีเป็นยาอันตรายและต้องควบคุม ทีมงานตรวจสอบกับเภสัชกรและได้ข้อมูลว่า ประกาศของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ระบุถึงรายการบัญชียาอันตรายที่ต้องทำบัญชีการขายยา ระบุถึงตัวยา หลายชนิด รวมถึงตัวยาที่มีส่วนผสมของคลอร์เฟนิรามินในรูปแบบยาน้ำ ตรงกับตัวยาส่วนผสมของยาแก้ไอรูปแบบน้ำชนิดนี้
ไทยพีบีเอสได้เบาะแสเพิ่มเติมจากหน่วยงานด้านการปกครองว่า การขายยาแก้ไอแบบบิลขาวหรือการขายยาแก้ไอนอกระบบ จะขนส่งจากจากผู้ผลิตในภาคกลาง พักไว้ในโกดังใหญ่ อ.จันดี และ อ.เมือง จ.นครศรีธรรมราช ก่อนกระจายไปยังร้านขายยาแก้ไอในเครือข่ายหลายแห่งในภาคใต้ โดยเฉพาะพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ตัวแทนจำหน่ายจะขายส่งยาแก้ไอราคาขวดละ 15-20 บาท ก่อนที่ราคาจะถูกปั่นให้สูงไปถึงขวดละ 100-120 บาทเมื่อตกไปถึงมือของผู้ใช้สารเสพติดชนิด 4 คูณ 100