วันนี้ (7 ก.ค.2559) นายสัตวแพทย์อยุทธ์ หรินทรานนท์ อธิบดีกรมปศุสัตว์ เปิดเผยว่า จากการที่มีรายงานพบเด็กชาย อายุ 12 ปี อาศัยอยู่ในแขวงหัวหมาก เขตบางกะปิ กรุงเทพมหานคร ป่วยด้วยโรคแท้งติดต่อ หรือ โรคบรูเซลโลซีส (Brucellosis) ซึ่งเป็นโรคติดต่อจากสัตว์สู่คน โดยมีโค-กระบือ แพะ-แกะ เป็นพาหะนำโรคนั้น
เบื้องต้นเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์พื้นที่ 6 กรุงเทพมหานคร ร่วมกับเจ้าหน้าที่ศูนย์สาธารณสุข 35 กรุงเทพมหานคร สอบสวนโรคแท้งติดต่อหรือโรคบรูเซลโลซิส ที่บ้านผู้ป่วยและสันนิษฐานว่าเด็กน่าจะติดเชื้อจากการสัมผัสแพะในพื้นที่ดังกล่าวซึ่งมีฟาร์มเลี้ยงแพะหลายแห่งหรือเด็กอาจจะดื่มนมแพะที่ไม่ผ่านการต้มฆ่าเชื้อ
อธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวว่า ขณะนี้ กรมปศุสัตว์ได้สั่งการให้ปศุสัตว์พื้นที่กรุงเทพมหานคร ระดมเจ้าหน้าที่เข้าพื้นที่ เจาะเลือดแพะทุกตัว ทุกฟาร์มในพื้นที่แขวงหัวหมาก เพื่อค้นหาแพะที่เป็นพาหะนำโรคแท้งติดต่อ หรือ บรูเซลโลซีส ในพื้นที่ต่อไป โดยมี นายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต รองอธิบดีกรมปศุสัตว์ และโฆษกกรมปศุสัตว์ ลงพื้นที่ไปตรวจเยี่ยมให้คำแนะนำเกษตรกรผู้เลี้ยงแพะ พร้อมกำกับดูแลการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ในครั้งนี้ด้วย ซึ่งจุดแรกที่ทำการเจาะเลือดแพะนั้น เป็นบ้านเกษตรกรที่อยู่เขตที่ติดต่อกับเขตบางกะปิ เลี้ยงแพะประมาณ 40 ตัว
โรคบรูเซลโลซิส (Brucellosis) หรือที่เกษตรกรนิยมเรียกว่า "โรคแท้ง" "โรคแท้งติดต่อ" เป็นโรคติดต่อเรื้อรังที่สำคัญของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม เช่น โค กระบือ สุกร แพะ ม้า สุนัข เป็นต้น และติดต่อสู่คนได้ ลักษณะที่ควรสังเกตของโรคนี้ คือ สัตว์จะแท้งลูกในช่วงท้ายของการตั้งท้องและอัตราการผสมติดในฝูงจะต่ำ โรคนี้เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย ชื่อ บรูเซลล่า (Brucella spp.) พบมีการแพร่ระบาดในทุกประเทศของโลก โดยเฉพาะโคนมและแพะ ยังมีความสำคัญในด้านสุขภาพอนามัยของมนุษย์ด้วย เนื่องจากโรคนี้สามารถติดต่อถึงคนได้ โดยทำให้คนมีไข้สูงหรือมีการติดเชื้อเฉพาะที่เช่น กระดูก เนื้อเยื่อ และอวัยวะในระบบต่างๆ เมื่อสัตว์เป็นโรคนี้แล้ว ไม่แนะนำให้รักษาเนื่องจากไม่ให้ผลดีเท่าที่ควร
ดังนั้น วิธีที่ดีที่สุดคือ การควบคุมและป้องกัน โดยที่เจ้าของสัตว์เลี้ยงควรตรวจโรคทุกๆ 6 เดือน ในฝูงโคและแพะที่ยังไม่ปลอดโรค และทุกปีในฝูงโคและแพะที่ปลอดโรค ในกรณีที่มีสัตว์ที่ตรวจพบว่าเป็นโรคควรจะแยกออกจากฝูง คอกสัตว์ป่วยด้วยโรคนี้ ต้องใช้น้ำยาฆ่าเชื้อทำความสะอาดแล้วทิ้งร้างไว้อย่างน้อย 1 เดือน ก่อนนำสัตว์ใหม่เข้าคอก ทำลายลูกที่แท้ง รก น้ำคร่ำ โดยการฝังหรือเผา แล้วทำความสะอาดพื้นที่นั้นด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อ กำจัด นก หนู แมลง สุนัข แมว และสัตว์เลี้ยงอื่นซึ่งเป็นตัวแพร่โรคออกไป สัตว์ที่นำมาเลี้ยงใหม่ ต้องปลอดจากโรคนี้ก่อนนำเข้าคอก
นอกจากนี้ โคและแพะพ่อพันธุ์ที่ใช้ในฟาร์มต้องไม่เป็นโรคนี้และควรฉีดวัคซีนป้องกันโรคนี้ในโค กระบือ เพศเมีย อายุ 3 - 8 เดือน ซึ่งจะทำให้มีภูมิคุ้มกันโรคได้นานถึง 6 ปี อธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวในที่สุด