วันนี้ (8 ก.ค.2559) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากสภาพความเป็นเมืองใหญ่ในกรุงเทพมหานคร, นนทบุรี และสมุทรปราการ ทำให้ในปัจจุบัน มีผู้ใช้ไฟฟ้ามากกว่า 350,100 ราย และมีความต้องการพลังงานไฟฟ้าสูงสุดกว่า 8,600 เมกะวัตต์ รวมทั้งยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยมีการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) รับผิดชอบจ่ายกระแสไฟครอบคลุมพื้นที่ 3,192 ตารางกิโลเมตร

นายสมชาย โรจน์รุ่งวศินกุล ผู้ว่าการการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) เปิดเผยถึงแผนงานโครงการนำระบบสายไฟฟ้าลงสู่ใต้ดินว่า ตามแผนงานเดิมเสร็จสิ้นแล้ว 6 เส้นทาง ขณะนี้มีเส้นทางที่อยู่ระหว่างก่อสร้าง 6 เส้นทาง และเส้นทางใหม่ที่จะทำในปี 2561 อีก 39 เส้นทาง โดยเส้นทางปัจจุบันที่อยู่ระหว่างก่อสร้างงานโยธา และย้ายสายไฟฟ้าลงใต้ดินมี 6 โครงการ รวม 53.3 กิโลเมตร จะทยอยเสร็จตั้งแต่ปีนี้ไปจนถึงปี 2563 ได้แก่ โครงการสุขุมวิทในส่วนที่เหลือ ระยะทาง 5.6 กม., โครงการจิตรลดา-ปทุมวัน-พญาไท ระยะทาง 6 กม., โครงการนนทรี ระยะทาง 8.3 กม., โครงการพระรามสาม ระยะทาง 10.9 กม. และโครงการรัชดาภิเษก-พระรามเก้า ระยะทาง 14.3 กม.

ส่วนโครงการที่ กฟน.ทำเสร็จในช่วงที่ผ่านมา มี 6 โครงการ รวม 35 กิโลเมตร ได้แก่ โครงการสีลม เป็นเส้นทางแรกที่เกิดขึ้น มีระยะทาง 2.7 กม. เริ่มดำเนินการปี 2527 แล้วเสร็จปี 2531 หรือเกือบ 30 ปีที่แล้ว ส่วนปี 2550 มี 2 โครงการ ได้แก่ เส้นทางปทุมวัน เริ่มกระบวนการปี 2535 ระยะทาง 6.7 กม. และโครงการจิตรลดา เริ่มก่อสร้างปี 2539 ระยะทาง 6.8 กม. สำหรับปี 2557 มี 3 เส้นทาง ได้แก่ พหลโยธิน ระยะทาง 8 กม., เส้นทางพญาไท เกือบ 3.8 กม. และเส้นทางสุขุมวิท 7 กม. ทั้ง 3 เส้นทาง ใช้ระยะเวลาทั้งกระบวนการ ประมาณ 10 ปี แล้วเสร็จเมื่อปี 2557

สำหรับเหตุผล เพื่อรองรับการเติบโตของเมืองเป็นประเด็นหลัก และจัดระเบียบสายไฟ เพื่อให้มีทัศนียภาพที่สวยงามเป็นประเด็นรอง สำหรับอนาคตมีเส้นทางที่จะดำเนินการอีก 39 โครงการ ตามมติคณะรัฐมนตรี เดือนกันยายน 2558 รวมระยะทาง 127 กม. ใช้งบประมาณลงทุนกว่า 48,000 ล้านบาท ขณะนี้ อยู่ระหว่างการกำหนดเส้นทางชัดเจนที่จะวางแนวท่อใต้ดิน และต้องหารือร่วมกับหลายฝ่ายที่เกี่ยวข้องโดยมีการทำบันทึกข้อตกลง (เอ็มโอยู) ร่วมกัน ได้แก่ สำนักงาน กสทช., สำนักงานตำรวจแห่งชาติ, กรุงเทพมหานคร และบริษัท ทีโอที เพื่อไม่ให้ต่างฝ่ายต่างทำเหมือนที่ผ่านมา

ประเด็นการย้ายสายไฟฟ้าจากบนดิน จะทำผ่านท่อร้อยสาย ลงสู่ท่อใต้ดินที่อยู่บนทางเท้า เพื่อกระจายเส้นทางไปยังครัวเรือน หรือหน่วยงาน หรือภาคธุรกิจต่างๆ ด้วยการขุดถนน หรือก่อสร้างท่อใต้ดิน จะเน้นใช้ระยะเวลาในช่วงกลางคืน เพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาการจราจรที่คับคั่ง โดยขณะนี้ มีเส้นทางที่อยู่ระหว่างการก่อสร้างอีก 6 เส้นทาง เช่น บริเวณถนนราชวิถี จาก แยกตึกชัย ไป แยกอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ระยะทาง 1 กม.
นายธนกฤต ชัยจิรารักษ์ วิศวกรไฟฟ้า 8 ฝ่ายบริหารโครงการ กฟน.กล่าวว่า ตามแผนงาน กฟน.จะวางแนวย้ายสายไฟฟ้าไว้ 3 รูปแบบ ขึ้นกับสภาพความเหมาะสมของพื้นที่ ส่วนข้อกังวลของหลายคนที่ทราบว่า มีการนำสายไฟฟ้าลงใต้ดิน อาจเกิดปัญหา หากถูกน้ำท่วมหรือมีความเสี่ยงต่อการจ่ายกระแสไฟนั้น สายที่ใช้ระบบใต้ดินเป็นสายกันน้ำ ซึ่งในกรุงเทพฯ เมื่อขุดลงไปไม่เกิน 40 ซม. จะพบน้ำใต้ดินแน่นอน ดังนั้น สายที่ กฟน.ใช้วางใต้ดิน จะแช่น้ำตลอดเวลาอยู่แล้ว และมีความปลอดภัยในการแช่น้ำได้ เป็นสายเฉพาะที่ใช้เกี่ยวกับระบบสายใต้ดินโดยเฉพาะ

ทั้งนี้ การก่อสร้างมีด้วยกัน 3 รูปแบบ ได้แก่ การขุดเปิดผิวดินจะรบกวนต้องปิดจราจรมาก ความลึกของท่ออยู่ไม่น้อยกว่า 80 ซม. และเป็นท่อหุ้มร้อยสาย เมื่ออยู่บนถนนจะมีคอนกรีตปิดด้านบนเพื่อไม่ให้กระทบต่อท่อหุ้มสาย วิธีที่ 2 คือการเจาะถนน ไม่กระทบการจราจร แต่เสียเวลาการตั้งเครื่องและแนวสายท่อที่วางที่จะต้องมีระยะยาวพอสมควร และไม่สามารถทำงานในระยะเวลาสั้นๆ ได้ โดยระดับความลึก จะลึกกว่าแบบแรก มีราคาแพงกว่าการก่อสร้าง ส่วนรูปแบบสุดท้าย คือการดันท่อคอนกรีต โดยมีท่อย่อยอยู่ข้างในอีกชั้นหนึ่ง มีวิธีแพงมาก แต่กระทบการจราจรน้อย แต่ใช้ระยะเวลาดำเนินการนาน

สำหรับกรณีการตรวจสอบกระแสไฟเมื่อลงสู่ใต้ดินนั้น ทาง กฟน.มีความชำนาญในการตรวจสอบและต่อสายไฟ รวมถึงระบบการตรวจจับแบบระบบเซ็นเซอร์ ซึ่งเมื่อไฟดับ ทางเจ้าหน้าที่จะทราบว่าจะดับช่วงไหนอย่างไร และสลับเส้นในการจ่ายไฟได้ เพื่อไม่ให้เกิดปัญหา