จากกรณีรายการพลิกปมข่าว ไทยพีบีเอส นำเสนอรายงานเรื่องสารเคมีในแหล่งน้ำ ในพื้นที่ จ.น่าน เมื่อวันที่ 5-6 ก.ค.ที่ผ่านมา นั้น ต่อมา นายเกษมสันต์ จิณณวาโส ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) สั่งการให้สำนักงานสิ่งแวดล้อม ภาค 3 ซึ่งดูแลพื้นที่ดังกล่าว เก็บตัวอย่างน้ำในพื้นที่จากแหล่งต่างๆ ว่า มาจากที่ไหนบ้าง เช่น น้ำจากพื้นที่เกษตรกรรม น้ำจากชุมชน และแหล่งน้ำตามธรรมชาติ พร้อมทั้งตรวจสอบ และให้รายงานมาโดยเร็วที่สุด เพื่อให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย
ความคืบหน้าเรื่องนี้ วันนี้ (9 ม.ค.) ผู้สื่อข่าวไทยพีบีเอสออนไลน์รายงานว่า ภายหลังการนำเสนอรายงานเกี่ยวกับเรื่องนี้ สร้างความตื่นตัวให้กับหน่วยงานราชการหลายหน่วย และแสดงเจตจำนงที่จะแก้ไขปัญหาร่วมกัน เพื่อให้เกิดความปลอดภัยกับประชาชนและสิ่งแวดล้อม ขณะเดียวกันก็สร้างความไม่พอใจให้กับข้าราชการระดับสูงในจังหวัดน่านบางคนด้วย
โดยมีการเขียนข้อความผ่านไลน์ ในกลุ่ม “ประชารัฐน่าน” ซึ่งมีผู้ที่อยู่ในกลุ่มดังกล่าวประมาณ 100 คน ระบุตอนหนึ่งว่า
“มหาวิทยาลัยที่เสนอวิจัยนี้ ควรเสนอทางออกด้วย นอกจากสะท้อนปัญหา ทำให้สังคมแตกตื่น หรือไม่ก็สะท้อนปัญหาให้ผู้ว่าฯ เพื่อร่วมแก้ไขปัญหา ไม่ใช่ออกข่าว หวังสร้างชื่อเสียงจากผลงานวิจัย”
“เศร้าใจ วงวิชาการ”
นอกจากนี้ยังเขียนพูดคุยกับผู้สื่อข่าวหนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่ง ระบุว่า
“เอายากจนอีกเรื่องไหม จนเรื้อรังท้ายๆ ของประเทศ เอาดิ (ชื่อหนังสือพิมพ์ส่วนกลาง)...สู้ทีพีบีเอสหน่อย 55”
“สายเศรษฐกิจ..(ชื่อหนังสือพิมพ์ส่วนกลาง)”
ขณะที่ผู้สื่อข่าวคนดังกล่าวระบุว่า “ข่าวทำนองนี้มีมานานแล้ว ถามว่า แล้วไง ??? สารปนเปื้อนในเลือดมีมานานแล้ว ข่าวสถิติมะเร็ง เผาป่า หน่อไม้ปี๊บเป็นพิษ ข่าวลูกชิ้นปลาปั๊กเป้า ข่าวเห็นพิษ ฯลฯ”
จากนั้นผู้สื่อข่าวจึงติดตามเพื่อหาข้อเท็จจริง ก่อนหน้าที่จะมีการนำเสนอข่าวดังกล่าวทราบว่า โครงการแก้ไขปัญหาสารเคมีใน จ.น่าน เริ่มมาตั้งแต่ปี 2557 แล้ว ในชื่อ “โครงการเสริมสร้างหน่วยงานท้องถิ่นในการแก้ปัญหาสารเคมีปนเปื้อนพื้นที่ต้นน้ำน่าน” ที่หลายหน่วยงานเป็นที่ปรึกษา ทั้งองค์การบริหารส่วนจังหวัดน่าน สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดน่าน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดน่าน ฯลฯ ข้อมูลที่ใช้ร่วมกันเป็นข้อมูลที่จังหวัดน่านทำร่วมกับนักวิจัยของมหาวิทยาลัยนเรศวร โดยรายงานให้ผู้ว่าฯ น่าน รับรู้มาโดยตลอด แต่ยังไม่ปรากฎเป็นข่าวเนื่องจาก จะมีการเปิดเผยในปี 2559 ซึ่งจะมีการแก้ไขเชิงนโยบาย พร้อมทั้งทุกภาคส่วนของจังหวัดจัดระดมความคิดเห็นในรูปแบบเวทีสาธารณะ เพื่อเป็นกลไกในการแก้ปัญหาเชิงสังคม ทำให้สื่อมาพบและรับทราบข้อมูลที่น่าสนใจ
“ก่อนหน้านี้ที่จะเป็นข่าว ทีมวิจัยเคยนำข้อมูลชุดเดียวกันนี้ไปให้ท่านผู้ว่าฯน่าน แล้ว และนักวิจัยยังบอกกับท่านผู้ว่าฯ ด้วยว่า ต้องการให้ท่านดูไว้เป็นข้อมูล เพื่อเตรียมรับมือกับสื่อ ที่จะเห็นข้อมูลชุดนี้เหมือนกัน และสักวันสื่อจะเห็น จำได้ว่าวันนั้น เป็นวันที่ท่านออกแถลงการณ์ 12 เมนูปลูกป่า ก่อนหน้าที่จะมีเวทีสาธารณะของชาวบ้าน จะเกิด 1 เดือน หากนักวิจัยเจตนาร้ายต่อจังหวัดน่าน หรือแค่อยากดัง จะหาทางไปเจอท่านหรือบอกท่านเรื่องนี้ทำไม” แหล่งข่าวคนหนึ่งกล่าว
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง ปริศนามะเร็งลุ่มน้ำน่าน พิษเคมีจากภูเขาถึงน้ำน่าน