หลังจากรายการ “พลิกปมข่าว” เปิดเผยรายงานสารเคมีปนเปื้อน ในแม่น้ำน่าน เมื่อวันที่ 5-6 ก.ค.ที่ผ่านมา นั้น ความคืบหน้าเรื่องนี้ วันนี้ (11 ก.ค.) นพ.คณิต ตันติศิริวิทย์ หัวหน้าศูนย์ประสานงานประชาคมจังหวัดน่าน เปิดเผยว่า ตามที่มีข่าวว่า นักวิจัยของมหาวิทยาลัยนเรศวร ตรวจพบสารยาฆ่าหญ้า อะทราซีนในน้ำใต้ดิน น้ำผิวดิน น้ำประปา จนมาถึงน้ำดื่มบรรจุขวดในจ.น่าน เกินค่ามาตรฐาน และยังพบว่า มีสารไกลโฟเสท ซึ่งเป็นสารก่อมะเร็งระดับ 2 A ในเนื้อปลาสูง กว่าค่ามาตรฐาน 20-200 เท่านั้น รวมถึงพบสารพาราควอท คลอไฟริฟอส เกินมาตรฐานในผัก ปลา และในดิน ในน้ำอีกด้วย ประชาคมชาวน่านถือเป็นข่าวใหม่ที่น่าตกใจ
จากการประชุมของกลุ่มประชาคมมีความเห็นว่า แม้ว่ามหาวิทยาลัยนเรศวร สุ่มตรวจยาฆ่าหญ้า ยาฆ่าแมลงที่จังหวัดน่าน แต่อย่าให้คนน่านตกเป็นจำเลย เพราะสารเคมีเหล่านี้ ส่วนใหญ่ถูกใช้ในการทำไร่ข้าวโพด ซึ่งทำกันจำนวนมากครอบคลุมทั้งภาคเหนือ ที่เป็นแหล่งต้นน้ำของแม่น้ำเจ้าพระยา ยากำจัดวัชพืชนำเข้าครึ่งปี 81 ล้านกิโลกรัม จังหวัดน่านใช้ 1.2 ล้านกิโล กรัมคิดเป็น 1.5 เปอร์เซนต์ เชื่อว่าถ้าตรวจจริงทุกพื้นที่ก็คงมีเช่นกัน ปัญหานี้จึงเป็นปัญหาที่คนทั้งประเทศและผู้บริหารของประเทศต้องร่วมกันคิดว่า เรากำลังเอาทรัพยากรที่มีค่า ทั้งดิน น้ำ ป่า อากาศที่มีหมอกควัน ไปแลกกับการปลูกพืชเชิงเดี่ยวเพื่อหวังผลระยะสั้นอย่างนั้นหรือ
กลุ่มประชาคมน่านมีความเห็นร่วมกันว่า การแก้ไขปัญหาดังกล่าวจำเป็นต้องเกี่ยวกับการแก้ไขกฎหมายหลายมาตรา การใช้มาตรการเดิมๆ ในอดีต โดยการจับกุมคนบุกรุกป่าทำไร่ข้าวโพด ไม่สามารถแก้ไขได้ เพราะพวกเขาเป็นกลุ่มที่ขาดโอกาสและไม่สามารถเลี้ยงชีพได้ การแก้ไขปัญหาที่ทำได้สำเร็จอย่างยั่งยืนมีตัวอย่างคือโครงการปิดทองหลังพระ ตามแนวพระราชดำริ ที่พัฒนาแหล่งน้ำ ให้ชาวบ้านร่วมปลูกป่า ร่วมดูแลป่า โดยได้ค่าจ้างที่เป็นธรรมพอเลี้ยงชีพได้ ถ้าขยายไปโดยการจ้างให้ชาวบ้านปลูกป่าในแหล่งต้นน้ำเต็มทุกพื้นที่ด้วยเงินงบประมาณจะช่วยปกป้องป่าต้นน้ำไว้ได้ หรือมีข้อเสนออื่นๆ เช่น การอนุญาตให้ปลูกต้นสักในพื้นที่ไม่มีกรรมสิทธิ์ ซึ่งแนวทางแก้เหล่านี้ล้วนต้องอาศัยการตัดสินใจจากผู้บริหารระดับประเทศทั้งสิ้น
อย่างไรก็ตามจากการตรวจสอบสารเคมีที่พบในแม่น้ำน่าน พบว่า มีอะทราซีน เฉลี่ย 12.29 ไมโครกรัม ต่อลิตร ในน้ำประปา มากกว่ามาตรฐานของประเทศแคนาดา 2 เท่า มากกว่ามาตรฐานของประเทศออสเตรเลีย 24.5 เท่า
พบอะทราซีน ในน้ำดื่มบรรจุขวดใน 8 อำเภอ ของจ.น่าน เฉลี่ย 18.78 ไมโครกรัมต่อลิตร ซึ่งสูงกว่าค่ามาตรฐาน
พบพาราควอท และไกลโฟเลท เกินมาตรฐานทั้ง 19 ตัวอย่าง และพบคลอไพรีฟอส เกินมาตรฐาน 15 ตัวอย่าง จากการเก็บตัวอย่างทั้งหมด 19 ตัวอย่าง
ผู้สื่อข่าวไทยพีบีเอสออนไลน์รายงานด้วยว่า ล่าสุด นายสุวัฒน์ พรมสุวรรณ ผู้ว่าฯ น่าน ทำหนังสือด่วนที่สุด ถึงหน่วยงานต่างๆ เชิญ “คณะทำงานบริหารจัดการปัญหาการใช้สารเคมีภาคการเกษตร จังหวัดน่าน” และผู้ที่เกี่ยวข้อง ประชุมร่วมกันในวันที่ 12 ก.ค.2559 เวลา 13.30-16.30 น. ที่ห้องประชุม 1 สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดน่าน