จากปัญหาภาวะภัยแล้งที่ส่งผลกระทบต่อน้ำในระบบชลประทานที่ใช้ในการเพาะปลูก พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า ปลายเดือนกรกฎาคม 2559 จะเสนอมาตรการปรับโครงสร้างการปลูกข้าว โดยเปลี่ยนไปปลูกพืชอื่นและจ้างเลิกปลูกข้าววงเงินประมาณ 10,000 ล้านบาท เข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี
สำหรับการปลูกข้าวนาปี รัฐบาลจะสนับสนุนการเพาะปลูกภายใต้มาตรการการลดต้นทุน เพิ่มประสิทธิภาพผลผลิตปกติจำนวน 54 ล้านไร่ เพื่อให้ได้ผลผลิตประมาณ 22 ล้านตัน ปรับเปลี่ยนไปปลูกพืชอื่นในฤดูนาปีจำนวน 500,000 ไร่ ทั้งพืชไร่ ปศุสัตว์ หรือในจำนวนนี้หากพื้นที่ไม่เหมาะสมจะจ้างให้ชาวนาหยุดการปลูกข้าว
ส่วนการปลูกข้าวนาปรังรอบ 1 รัฐบาลจะสนับสนุนให้ปลูกข้าว 7 ล้านไร่ จะได้ผลผลิตจำนวน 4 ล้านตันและจะสนับสนุนให้ปรับเปลี่ยนอาชีพจำนวนกว่า 4 ล้านไร่
นายวิเชียร พวงลำเจียก อดีตนายกสมาคมชาวนาและเกษตรกรไทย กล่าวว่า ขณะนี้ยังไม่มีความชัดเจนจากรัฐบาลที่จะจ่ายเงินให้ชาวนาไร่ละ 1,000 บาท เพื่อให้ชาวนาลดพื้นที่ปลูกข้าวนาปรัง ซึ่งขณะนี้ชาวนาในหลายพื้นที่มีการลดพื้นที่ปลูกข้าวลงไปแล้วและกำลังเดือดร้อนมากเพราะขาดรายได้ โดยสิ่งที่ชาวนาต้องการคือให้รัฐบาลพักหนี้ทั้งเงินต้น ดอกเบี้ยและหาอาชีพที่เหมาะสมแทนการปลูกพืชที่ใช้น้ำน้อย
รายงานข่าวจากกระทรวงเกษตรฯ ระบุว่า เสนอขออนุมัติจาก ครม.ดำเนินการทั้งโครงการ เพื่อปรับโครงสร้างการปลูกข้าวในพื้นที่ไม่เหมาะสม โดยจ่ายครัวเรือนละประมาณมากกว่า 1,000 บาทต่อไร่ ในช่วงฤดูการทำนาปรัง ซึ่งจะไม่ซ้ำซ้อนกับมาตรการของกระทรวงการคลังที่จะจ่ายเงินให้เกษตร 1,000 บาทต่อไร่ในช่วงนาปี