จากกรณี ตำรวจ สภ.บ้านโป่ง จ.ราชบุรี จับกุมนักศึกษากลุ่มประชาธิปไตยใหม่ 4 คน พร้อมด้วย นายทวีศักดิ์ เกิดโภคา ผู้สื่อข่าวเว็บไซต์ประชาไท โดยอ้างว่าผู้ที่ถูกจับกุมมีเอกสารประชามติในครอบครอง และมีพฤติการณ์เชื่อว่าจะมีการแจกเอกสารรณรงค์ต่อต้านการลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ จนถูกตั้งข้อหาความผิดตามมาตรา 61 วรรค 2 พระราชบัญญัติว่าด้วยการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2559 ต่อมาศาลจังหวัดราชบุรีอนุญาตให้ประกันตัวผู้ต้องหา 5 คน ในวงเงินประกันคนละ 1.4 แสนบาท รวมเป็นเงิน 7 แสนบาท
นำมาซึ่งการยื่นหมายศาลอาญา ขอเข้าค้นพื้นที่สำนักงานเว็บไซต์ประชาไท อาคารมูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม (มอส.) ย่านรัชดา กทม. ช่วงบ่ายวันนี้ (12 ก.ค. 2559)
ทหารเฝ้าคุมเชิง-หวั่นผลิตหนังสือต้าน "ประชามติ"
น.ส.จีรนุช เปรมชัยพร ผู้อำนวยการเว็บไซต์ประชาไท ให้สัมภาษณ์ “ไทยพีบีเอสออนไลน์” เกี่ยวกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นครั้งแรกว่า ตนออกไปทำธุระข้างนอกและกลับเข้ามายังสำนักงานในช่วงบ่ายก็พบเหตุการณ์ดังกล่าว โดยมีตำรวจนอกเครื่องแบบจาก สน.สุทธิสาร 5 คน นำหมายศาลอาญาระบุชื่อเจ้าหน้าที่เข้าขอค้นภายในสำนักงาน เพื่อตรวจสอบว่าทางประชาไทมีเอกสาร หรือเป็นแหล่งจัดพิมพ์ผลิตหนังสือรณรงค์ต่อต้านการลงเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญในวันที่ 7 ส.ค.ที่จะถึงนี้ หรือไม่ ขณะที่ ทหารที่ดูแลในพื้นที่อีกประมาณ 3-4 คน ยืนรออยู่ภายนอกสำนักงาน บริเวณลานจอดรถ
ส่วนการนำหมายศาลเข้าขอค้นของเจ้าหน้าที่เป็นไปด้วยความสุภาพเรียบร้อย และใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมง ระหว่าง 14.00-15.00 น. ในการค้นหาสิ่งของต้องสงสัย ซึ่งทางตำรวจไม่พบเอกสารใด ๆ ที่ส่อไปในทางปลุกระดมให้เกิดการต่อต้านการลงเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ
“ถึงแม้ว่าตำรวจและทหารค้นเจอเอกสารที่ส่อไปในทางนั้น ซึ่งอาจจะมีอยู่ 1-2 เล่ม แต่ก็เป็นเอกสารของแหล่งข่าวที่นักข่าวได้มาจากการออกไปทำข่าว ทางเรายืนยันว่าเราไม่เคยมีการตีพิมพ์หรือแจกจ่ายเอกสารต่อต้านการลงเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ” ผอ.เว็บไซต์ประชาไท ระบุ
เห็นคนแปลกหน้าสังเกตการณ์หลายวัน
เธอ ยังบอกด้วยว่า ชาวบ้านในละแวกนี้ให้ข้อมูลว่าเห็นคนแปลกหน้า ซึ่งคาดว่าเป็นตำรวจจากสน.สุทธิสาร มาเฝ้าสังเกตการณ์ตั้งแต่วันอาทิตย์ที่ 10 ก.ค. ส่วนวันจันทร์ที่ 11 ก.ค. ก็มีตำรวจนอกเครื่องแบบมาเฝ้าดูอยู่เช่นกัน แต่ไม่ได้เข้าขอตรวจค้นสำนักงาน ซึ่งทราบภายหลังว่าเป็นเพราะศาลยังไม่อนุมัติหมายค้น เนื่องจากข้อมูลในการขอเข้าค้นไม่เพียงพอ และศาลเพิ่งอนุมัติวันนี้
น.ส.จีรนุช คาดว่าการขอหมายศาลเพื่อเข้าค้นสำนักงานเว็บไซต์ประชาไทยครั้งนี้ เพราะเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงกำลังหาความเชื่อมโยง ว่าเว็บไซต์ประชาไทยอาจเป็นแหล่งทุน หรือเป็นอยู่เบื้องหลังให้การสนับสนุนกลุ่มนักศึกษาประชาธิปไตยใหม่
สื่อขวัญหายถูกคุกคาม-หวังยืนหยัดเสนอความจริง
ผอ.เว็บไซต์ประชาไทกล่าวต่อว่า การนำหมายศาลเข้าตรวจค้นของตำรวจและทหาร แม้จะทำถูกต้องตามกฎหมายและเป็นไปด้วยความเรียบร้อย แต่ก็ทำให้คนในสำนักงานตกใจขวัญหายกันไม่น้อย ส่วนตัวมองว่าการกระทำดังกล่าวเป็นการคุกคามการทำงานของสื่อมวลชน และอาจส่งผลกระทบต่อการทำงานของสื่อมวลชนในระยะยาว
เธอ เชื่อว่า จากนี้บรรยากาศการทำงานของสื่อจะเป็นไปในแบบเกรงกลัว และต้องระแวดระวังอำนาจที่มาจำกัดการทำงาน จนไม่กล้าที่จะนำเสนอมุมต่างที่มีการตั้งคำถาม ต่อ พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2559 โดยเฉพาะมาตรา 61 วรรค 2 ที่ยังไม่ชัดเจนและกลายเป็นปัญหา กับการระบุว่า “ผู้ใดดำเนินการเผยแพร่ข้อความ ภาพ เสียง ในสื่อหนังสือพิมพ์ วิทยุ โทรทัศน์ สื่ออิเล็กทรอนิกส์ หรือในช่องทางอื่นใด ที่ผิดไปจากข้อเท็จจริงหรือมีลักษณะรุนแรง ก้าวร้าว หยาบคาย ปลุกระดม หรือข่มขู่ โดยมุ่งหวังเพื่อให้ผู้มีสิทธิออกเสียงไม่ไปใช้สิทธิออกเสียง หรือออกเสียงอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือไม่ออกเสียง ให้ถือว่าผู้นั้นกระทำการก่อความวุ่นวายเพื่อให้การออกเสียงไม่เป็นไปด้วยความเรียบร้อย” และหากบรรยากาศยังเป็นไปในลักษณะนี้ การทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญก็ไม่ได้สะท้อนความต้องการของประชาชนอย่างแท้จริง
“การเรียกร้องหลังจากนี้ ทางประชาไทได้แต่หวังว่าสื่อมวลชนด้วยกันเอง จะยังคงยืนยันการทำหน้าที่ รายงานความจริง เสนอข้อคิดเห็น แม้แต่การวิพากษ์ให้เห็นว่า พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติฯ โดยเฉพาะ ม.61 วรรค 2 นั้น เป็นปัญหา และเป็นกรอบที่จะมาครอบการทำงานของสื่อ” น.ส.จีรนุช กล่าว
ด้านผู้สื่อข่าวในสังกัดที่ถูกจับตัวและศาลจังหวัดราชบุรีให้ประกันตัวออกมานั้น ผอ.เว็บไซต์ประชาไท บอกว่า ปล่อยให้เป็นไปตามขั้นตอนของกฎหมาย เพราะจากการตรวจสอบการทำงานของนักข่าวพบว่าปฏิบัติงานอย่างถูกต้อง ไม่ได้เป็นการยุยงตามที่ถูกกล่าวหาแต่อย่างใด ซึ่งทางสำนักงานก็ให้ความมั่นใจและให้กำลังใจ ไม่ได้ปล่อยให้เผชิญปัญหาตามลำพัง
"ประชาไท" สัมภาษณ์ตำรวจที่เข้าตรวจค้นสำนักงาน