วันนี้ (18 ก.ค. 2559) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า อัตราค่าโดยสารที่ไม่ต่างกันมากนักเมื่อเทียบกับรถโดยสารข้ามจังหวัด แต่ประหยัดเวลาและสะดวกสบายกว่า ทำให้ความนิยมใช้บริการสายการบินต้นทุนต่ำหรือโลว์คอสต์ขยายตัวอย่างรวดเร็ว
ส่งผลให้ บริษัท ขนส่ง จำกัด (บขส.) ต้องเร่งปรับกลยุทธ์เพื่อลดผลกระทบด้วยการวางแผนระยะ 4 ปี ซึ่งหนึ่งในวิธีการคือการลดต้นทุนให้ได้มากกว่า 1,000 ล้านบาท
ขณะเดียวกันก็ต้องเร่งปรับปรุงรถโดยสารให้มีความทันสมัย สอดรับกับไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภคให้มากขึ้น เป็นที่มาของการจัดเช่ารถบัสโดยสารขนาดความยาว 15 ม. ทั้งสิ้น 400 ค้น เพื่อทดแทนรถโดยบัสโดยสารรุ่นเก่าที่หมดสัญญาเช่า
ภายในตัวรถโดยสารแบบใหม่ ประกอบไปด้วยเบาะโดยสารทันสมัย ติดตั้งระบบนวดอัตโนมัติ และยังสามารถชาร์จแบตเตอรีโทรศัพท์มือถือได้ รวมถึงติดตั้งระบบไวไฟบนรถ ขณะที่ระบบจีพีเอสบังคับให้คนขับต้องรูดบัตรประจำตัว และหากขับถึง 4 ชม.ต้องหยุดพัก ไม่เช่นนั้นรถจะสตาร์ทไม่ติด
รถโดยสาร บขส.แบบใหม่นี้ เริ่มทดสอบวิ่งให้บริการใน 4 เส้นทางหลัก ได้แก่ เส้นทางกรุงเทพฯ-แม่สอด/ กรุงเทพฯ-ภูเก็ต/ กรุงเทพฯ-นครพนม และกรุงเทพฯ-เชียงใหม่ แล้ว โดยปล่อยวิ่งเส้นทางละ 2 คัน
โดย บขส.เชื่อว่า การนำรถรุ่นใหม่มาใช้ รวมถึงการปรับการให้บริการรูปแบบใหม่ และการเพิ่มสถานีโดยสารแบบกระจายตัวในหลายพื้นที่ เพื่อเพิ่มความสะดวกสะบายให้ผู้ใช้บริการ จะเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันกับธุรกิจสายการบินต้นทุนต่ำได้ เนื่องจากผลการสำรวจพบว่า ประชาชนจำนวนไม่น้อยยังชอบใช้บริการ บขส.
นอกจากนี้ บขส.จะพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์เพื่อรองรับผู้โดยสาร เช่น สถานีเอกมัยจะย้ายไปที่สถานีบางนา ซึ่งจะเป็นสถานีหลักเดินรถสายตะวันออก หรือสถานีสายใต้จากบรมราชชนนีเดิมจะย้ายมาที่ย่านจรัญสนิทวงศ์
ขณะที่ผลประกอบการปี 2559 แม้ภาพรวมจะยังไม่สามารถเทียบได้กับปีก่อน (2558) เนื่องจากผู้โดยสารลดลงร้อยละ 30 แต่คาดว่าในปีหน้า (2560) จะมียอดเพิ่มขึ้น และหากสามารถดำเนินการตามแผนได้ในระยะเวลา 4 ปี จะสามารถลดต้นทุนตามที่ตั้งเป้าไว้ได้ราว 1,000 ล้านบาท